ในคืนวันที่มีเรื่องน่าสนใจ (หรือน่าเหนื่อยใจ) เต็มหน้าจอเราไปหมด อยากชวนดูบางส่วนของงานรางวัล Best of Digital News Design ในเวที Society for News Design (SND) เพราะงานเหล่านี้ นอกจากจะชุบชูจิตใจในเชิงประเด็นแล้ว ยังนำเสนอผ่านวิชวลและเทคนิคได้อย่างยอดเยี่ยม จนทำให้ร้องว้าวขึ้นมาได้
SND คือเวทีที่รวมเอาคนทำงานด้านข่าวในทุกตำแหน่ง ตั้งแต่นักข่าว นักเขียน ดีไซเนอร์ นักวิทยาศาสตร์/วิเคราะห์ข้อมูล และโปรแกรมเมอร์ มาช่วยกันคัดเลือกชิ้นงานที่ “ขยับเพดาน” ของการใช้ดีไซน์และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาวงการข่าว ซึ่งในปี 2021 นี้ มีงานจากสำนักข่าว 29 ประเทศทั่วโลก ส่งเข้าร่วมชิงเหรียญถึง 1,764 ชิ้น และนี่คือบางส่วนของชิ้นงานที่เราอยากชวนคุณดู (แน่นอนล่ะว่า สำนักข่าวใหญ่ชื่อคุ้นอย่าง New York Times, Washington Post, Reuter ก็คว้าไปเยอะ แต่เราพยายามเลือกของสำนักข่าวอื่นๆ มาให้ดูกันด้วย)
🏅Welcome to the Zo โดย The Marshall Project
มีงานศึกษาเรื่อง “ผู้คุมปั่นหัวนักโทษอย่างไรบ้าง?” ในสหรัฐฯ เป็นเปเปอร์ความยาวเกือบร้อยหน้า แน่นอนว่านั่นมีคุณค่าทางวิชาการและควรค่ากับการอ่าน (ถ้ามีเวลาและถ้าไหว) แต่ Marshall Project เปลี่ยนให้เปเปอร์ที่อาจเข้าถึงยากเหล่านั้น ชวนเข้าใจง่ายขึ้นด้วยการเปลี่ยนมันเป็น Animated Video (ที่กรรมการชมว่าขยับได้เนียนมากๆ) นอกจากจะทำให้คนดูเข้าใจเรื่องได้ง่ายและเร็วขึ้นแล้ว การใช้คลิปที่เป็นการวาดรูปนี้ ยังทำให้คนรู้สึกเข้าถึงได้มากขึ้น จนดูเพลินๆ แล้วรู้สึกอินจนนึกว่าเราก็อยู่ในสถานการณ์นั้นด้วย
ดูได้ที่ https://www.themarshallproject.org/2020/02/27/welcome-to-the-zo
🏅Followed โดย Adresseavisen
“จังหวะได้ ลูกเล่นดี จนรู้สึกเหมือนว่ากำลังเป็นเหยื่อจริงๆ” คือคำชมของคณะกรรมการต่องานชิ้นนี้ ที่เล่าเรื่องจริงจากนอร์เวย์ ถึงพฤติกรรมของ Stalker คนหนึ่งที่กระทำต่อเหยื่อถึง 30 คน ประสบการณ์เหล่านั้นถูกเอามาเล่าผ่านมีเดียที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพ ไดอะแกรม คลิปวิดีโอ หรือแผนที่ โดยค่อยๆ จัดวางให้เราได้ซึมซับสถานการณ์ จนเหมือนกำลังดูหนังหรือซีรีส์อยู่ (แต่อย่าลืมว่านี่คือเรื่องจริง และนั่นทำให้เรารู้สึกกลัวไปด้วยเลย) และแม้จะเป็นบทความขนาดยาว (เนื้อหาเยอะ) แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะอยากไถดู (อ่าน) จนจบ
ดูได้ที่ https://www.adressa.no/pluss/magasin/2020/08/13/Followed-22622879.ece
🏅Pieces of a president โดย Wahington Post
งานชิ้นนี้ได้รับคำชมเรื่องความละเอียดยิบยิ่งกว่ายิบ ด้วยการพาไปเจาะลึกแต่ละส่วนของภาพวาดโอบามา โดยศิลปิน Wayne Brezinka (จริงยิ่งกว่ายืนดูในพิพิธภัณฑ์) แถมมีเรื่องเล่าเรื่องราวให้อ่านไปทีละอย่างๆ ว่าแต่ละจุดของภาพนั้นคืออะไร น่าสนใจเหมือนกันว่าเทคนิคนี้อาจจะพาให้เราไปวิเคราะห์งานศิลปะหรือมีเดียหลายๆ อย่างได้สนุกขึ้น
ดูได้ที่ https://www.washingtonpost.com/graphics/2020/outlook/obama-collage
🏅 Illegal with friends. The lives of Ali and Amadu โดย NRC MEDIA
อ่านไม่ออก ฟังไม่ออก แต่ก็ยังอยากชวนดูเทคนิคของงานชิ้นนี้ ที่เป็นเรื่องเล่าของผู้อพยพซึ่งเล่าผ่านการผสมผสานภาพวาดสเก็ตช์ คลิปเสียง และเทคนิคเชิงเว็บได้อย่างลงตัว จนคณะกรรมการของ SND ถึงกับบอกว่าทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้รู้จักและเป็นส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้จริงๆ
ดูได้ที่ https://www.nrc.nl/ali-amadu
🏅 The African-American Art Shaping the 21st Century โดย New York Times
งานที่เล่าบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการสร้างงานของกลุ่ม creator ชาว African-American ชิ้นนี้ ได้จัดการกับความท้าทายอย่างหนึ่งในการออกแบบงานสื่อสารในยุคสมัยนี้ นั่นคือการเล่าเรื่องที่ยาวมาก และมีตัวหนังสือ (text) เยอะมาก จนต้องนั่งกุมสมองคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสนใจและหยุดดู งานนี้จึงเปลี่ยนบทสัมภาษณ์จำนวนมากให้ออกมาในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ดึงดูดคนดูด้วยวิชวลที่น่าสนใจ ก่อนที่จะคลิกไปดูรายละเอียดเบื้องหลังความน่าดึงดูดเหล่านั้นอย่างยินดี
ดูได้ที่ https://www.nytimes.com/interactive/2020/03/19/arts/african-american-art-inspiration.html
🏅Dyatlov Group’s Journal: The Last Page โดย Ruptly
การตายที่แปลกประหลาดของ 9 นักปีนเขาในกลุ่ม Dyatlov Group ที่ North Ural เป็นปริศนามาถึง 60 ปี นี่คือชิ้นงานสืบสวนสอบสวนที่ทีม Ruptly ไปเดินตามรอยกลุ่มนักปีนเขาเหล่านั้น แล้วเอาหลักฐานในอดีตมาแมตช์กับภาพสารคดีในปัจจุบัน พร้อมบันทึกการสืบสวนและบทสัมภาษณ์ต่างๆ พร้อมเสียงประกอบที่ให้ประสบการณ์แบบ immersive บอกเลยว่าเตรียมใจไว้ให้ดี เพราะจะไม่อยากสกิปแม้แต่คลิปหรือพารากราฟเดียว
ดูได้ที่ https://dyatlov.ruptly.tv/en