เชื่อว่าพออยู่บ้านนานๆแต่ละคนก็เริ่มคิดแล้วว่าแต่ละวันจะทำอะไรดี อาหารก็ลองทำจนคิดเมนูไม่ออก Tiktok ก็ลองเล่นจนครบหมดทุกเพลง หรือบางคนไม่อยากเป็นทั้งเชฟและแดนเซอร์ มีอะไรน่าสนใจให้เราได้ลองทำลองเรียนรู้กันอีกบ้าง ?
วันนี้ Punch Up เลยขอนำงาน Data Visualization ที่ให้ทุกคนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยคัดสรรผลงาน Visualisation ที่น่าสนใจที่มีอยู่มากมายจากหลายๆองค์กร หรือสำนักข่าว มาให้ทุกคนได้ลองอ่าน + เล่นกันดูในหลายๆแขนงของความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงคลังความรู้ต่างๆ ที่อาจกินเวลาอ่านตั้งแต่ไม่เกิน 5 นาที ไปจนถึงหลายชั่วโมง
เราหวังว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากผลงานเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มชีวิตยามว่างให้ดูมีสีสันหรือมีประโยชน์กับแต่ละคนไม่มากก็น้อย 🙂
Life Stats
เคยสงสัยไหมว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังจากเราเกิดมา ? เว็บไซต์ Neal.fun ที่มี Neal Agarwal เป็นเจ้าของได้สร้างโปรเจค Life Stats ขึ้นมาเพื่อให้เราได้ลองเรียนรู้เรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสังคม ธรรมชาติ และโลก ผ่านวันเกิดของตัวเราเอง เพียงกรอกวันเกิดของตัวเองเข้าไป เว็บไซต์จะคำนวณให้ว่าหลังจากเราเกิดมาบนโลกนี้ ได้มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นบ้าง เช่น ตั้งแต่เกิดมาหัวใจเราเต้นไปแล้วกี่ครั้ง ? หายใจ กระพริบตา ไปแล้วกี่รอบ ? ดวงจันทร์โคจรออกห่างจากโลกเราไปแล้วขนาดไหน ? และเราเดินทางรอบดวงอาทิตย์มาแล้วกี่กิโลเมตรกัน? เชื่อว่าหลังจากลองเล่นแล้วเราอาจเข้าใจอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับตัวเรา และสิ่งรอบตัวเรามากขึ้นแน่นอน
อ่านได้เลยที่ : neal.fun/life-stats
Toilet Paper Calculator
ในวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ปัญหากระดาษชำระขาดตลาดกลายเป็นปัญหาโลกแตกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เว็บไซต์ Flowing Data จึงออกแบบ Toilet Paper Calculator ขึ้นมาเพื่อให้เราลองคำนวณจำนวนการใช้กระดาษชำระของแต่ละบ้านให้เหมาะสมก่อนที่จะตัดสินใจเดินออกไปซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อไม่ให้เกิดการตุนกระดาษชำระเกินความเป็นจริง รวมไปถึงเสนอทางเลือกในการทำความสะอาดใหม่ๆอย่างสายชำระ ที่ประเทศเราใช้กันมาเนิ่นนาน
อ่านได้เลยที่ : Toilet Paper Calculator
Histrography.io
รวบรวม Timeline เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ Big Bang ไปจนถึงสงครามกลางเมืองในซีเรีย(ค.ศ. 2015) รวมกว่า 10,000 เหตุการณ์ นำมา Visualize และ Interact ผ่านกราฟและจุดสี พร้อมทั้งเรายังสามารถจัดหมวดหมู่ช่วงเวลา ยุค และชนิดของเหตุการณ์ให้เราลองค่อยๆศึกษาวิวัฒนาการของมนุษยชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เรื่อยๆแบบไม่มีเบื่อ โดยหากต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถกดเข้าไปอ่านต่อได้ในบทความใน Wikipedia
อ่านได้เลยที่ : histography.io
Art in Isolation: An Ongoing Visual Diary in Our Uncertain Times
รวบรวมงานภาพที่สะท้อนผ่านมุมมองและอารมณ์ของนักวาดภาพประกอบ The New York Times ในช่วงวิกฤตCOVID-19 ที่แต่ละคนต้องกักตัวและทำงานอยู่ที่บ้านโดยไม่มีทีท่าว่าจะมีวันสิ้นสุด ภายในบทความเต็มไปด้วยภาพที่นำเสนอมุมมองน่ารัก ตลกร้าย เสียดสี เช่นงานของนักออกแบบ Andrew Kuo ที่ทำ Data Visualization เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียงในหัวของตัวเขาเองในช่วงกักตัว ที่หากเราลองอ่านแล้วก็ก็คงเข้าใจความคิดของพวกเขาได้ไม่ยากเลย
อ่านได้เลยที่ : nytimes.com/interactive/2020/03/25/opinion/coronavirus-art.html
The forbidden city: A Visual Explainer
รวม 8 เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในพระราชวังต้องห้าม (The forbidden city) ผ่าน Data Visualizaton และ Visual Explainer หลากหลายรูปแบบ ที่จะทำให้ทุกคนตื่นตะลึงไปกับเรื่องราวและวิธีการนำเสนอ ที่เรียบเรียงมาอย่างสวยงาม น่าค้นหา ราวกับกับอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหญ่ภายในเวลาชั่วพริบตา
อ่านได้เลยที่ : https://multimedia.scmp.com/infographics/culture/article/3016607/history-of-the-forbidden-city/index.html?src=arcade
Codex atlanticus
คลังข้อมูลภาพวาดและงานเขียนของ Leonardo Da Vinci ที่ใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุด ถูกนำมา Visualise จัดหมวดหมู่ และนำเสนอแบบดิจิตอล โดย The Visual Agency
ในเวอร์ชั่นดิจิตอล แต่ละหน้ากระดาษได้ถูกนำมาจัดหมวดหมู่ด้วยแถบสี เพื่อแสดงธีมของผลงานหลักๆที่ Da Vinci ต้องการจะสื่อสาร แบ่งออกเป็น 5 หมวดหลักๆ ได้แก่ 1. Geometry & Algebra, 2. Physics & Natural Science, 3. Tools & Machines, 4. Architecture & Applied Arts และ 5. Human Science
Tips รู้หรือไม่? Da Vinci ไม่ได้เป็นคนรวบรวมผลงานของตัวเองจนเกิดเป็น Codex atlanticus” ทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิตให้กับ Pompeo Leoni ช่างแกะสลักชาวมิลานที่นำผลงานของ Davinci กว่า 1,119 หน้ามารวบรวมกันและตั้งชื่อว่า Codex atlanticus
อ่านได้เลยที่ : codex-atlanticus.it
SCMP Print Arcade
สำนักพิมพ์ South China Morning Post ได้คัดเลือกและรวบรวมผลงาน Visual Journalism ที่ถูกตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์หรือถูกนำเสนอลงบนเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบันมารวบรวมเป็นเหมือนไดอารี่ของสำนักพิมพ์ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปอ่านและสำรวจ หรือแม้กระทั่งพิมพ์เก็บไว้แปะที่หัวเตียงได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย
อ่านได้เลยที่ : multimedia.scmp.com/culture/article/SCMP-printed-graphics-memory/