“เมื่อเข้าถึงข้อมูลได้มากพอ ก็เอื้อต่อการเล่าเรื่องบนพื้นฐานของความจริง เอื้อต่อการนำเสนอข่าวแนวสืบสวน (Investigative News) เจาะลึกให้คนทั่วไปเข้าถึงได้”
คำตอบของ ไอดิลา ราซัก บรรณาธิการข่าวพิเศษจของ Malaysiakini บนเวที “วารสารศาสตร์ข้อมูล: อีกก้าวของประชาชนและประชาธิปไตย?” วงพูดคุยที่ผมมีโอกาสเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนในงาน Forum Media and Development (FoME) Symposium ประจำปี 2019 ที่จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ Deutsche Welle (DW)เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา
นอกจากไอดิลา วงนี้ก็มี มีร์โค โลเรนซ์ จาก DW Innovation Lab ปีเตอร์ เดเซแลเออร์ จาก DW ดำเนินรายการ และผมซึ่งเป็นตัวแทนจาก Boonmee Lab, Punch Up และ ELECT จากประเทศไทย
ทำไม Data Journalism ถึงมีบทบาทสำคัญ?
ไอดิลายกตัวอย่างงาน ‘Stolen’ 1MDB Funds: the DOJ lawsuit revisited ที่หยิบเอารายละเอียดคำพิพากษาของการฟอกเงินครั้งใหญ่ มาจัดทำเป็นแผนภาพที่เผยให้เห็นกระบวนการคอรัปชันตั้งแต่ต้นจนจบ งานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นที่สนใจจากสาธารณะอย่างมาก ยังยกระดับเนื้อหาจากข่าวขึ้นไปเป็นแหล่งอ้างอิงให้กับองค์กรต่าง ๆ (ละเอียดมาก ๆ)
ELECT เองก็มีลักษณะที่คล้ายกัน แม้จะดำเนินงานด้วยทีมงานเฉพาะกิจและอาสา แต่ก็ถือเป็นโครงการที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการ Data Journalism ในประเทศไทย จากผลตอบรับที่วัดจากการเข้าชมเว็บไซต์ ELECT ที่เน้นการรณรงค์ให้ความรู้และข้อมูลเพื่อการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ชิ้นงานที่เป็น ‘เครื่องมือ’ มีอิทธิพลสูงกว่างานแบบ ‘เล่าเรื่อง’ เป็นเพราะที่ไทยเองมีเรื่องเล่าที่เผยแพร่อยู่ในตลาดผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ที่ขาดคือเครื่องมือดี ๆ ให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลที่แต่เดิมเข้าถึงยากหรือไม่มีอยู่ เป็นเรื่องง่ายขึ้น ผลก็คือช่วงก่อนเลือกตั้งไม่กี่สัปดาห์ก็มีการเข้าชมเว็บไซต์ถึง 20 ล้านครั้ง
ทางฝั่งมีร์โคที่ทำงานอยู่ในยุโรป เขามีส่วนในการขับเคลื่อน Data Journalism ให้แพร่หลายในวงกว้าง ด้วยการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนนักข่าวให้สามารถนำเสนอ Data Visualization ที่สวยงาม ใช้งานง่าย โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการเขียนโค้ด นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ทีมงานของเขาจึงพัฒนา Data Wrapper ซอฟต์แวร์สำหรับนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ ที่มีการสร้างกราฟ ชาร์ต ไปทั่วโลกเดือนละกว่า 200 ล้านชิ้น โดยมีลูกค้าคุ้นหูคุ้นตาอย่าง New York Times และ Vox รวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีร์โกคิดว่า คำว่า Data Journalism ที่เป็นทั้งชื่องานและคำที่ติดปากกันในปัจจุบัน บ่อยครั้งถูกตีกรอบให้จำกัดเพียงวิธีการนำเสนอในรูปแบบกราฟ ชาร์ต หรือการคำนวณตัวเลขจากข้อมูลขนาดใหญ่ ทว่าการทำข่าวจากการวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานอย่างจริงจัง ก็สามารถนำเสนอในรูปบทความธรรมดา ๆ ได้เช่นกัน เขาชวนใช้คำว่า Data-driven Journalism ซึ่งมีความหมายที่ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งผมและไอดิลาก็เห็นตรงกัน
ทั้งไอดิลาและมีร์โกอาจจะอยู่ในวิชาชีพข่าวมานาน แต่ผมในฐานะคนจากนอกสาย ร่วมกับทีมเข้ามามีส่วนร่วมเพราะอยากเห็น “การเล่าข่าว เล่าเรื่องบนพื้นฐานของข้อมูล และการนำเสนอที่สวยงามเข้าใจง่าย” ซึ่งยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมากในประเทศไทย ทั้งกระบวนการคิด การผลิต การออกแบบ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีความตื่นตัวอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และผมก็ยังหวังว่ากระแสในประเทศไทยจะดำเนินต่อเนื่องจน ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรสาย Data Journalism เพิ่มมากขึ้นในระยะยาว
Data Journalism สร้างความเชื่อมั่น และพาเราเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น
“Data Journalism ไม่ใช่ความจริง 100%” มีร์โกให้ความเห็น แม้ว่าเรากำลังอ่านงาน Data Journalism จากสำนักข่าวชื่อดัง ก็ไม่ควรปักใจเชื่อทั้งหมดอยู่ดี จริงอยู่ที่การทำข่าวบนพื้นฐานข้อมูลจะพาเราเข้าใกล้ความจริง แต่ก็อาจเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว หรือเป็นความจริงอีกด้านของเหรียญตามเจตนาของผู้เล่าเรื่อง
การผลิตงาน Data Journalism จึงต้องมีจรรยาบรรณในการเล่าเรื่อง การชี้ประเด็น การคัดเลือกข้อมูล ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการได้มาซึ่งข้อมูลที่ครบสมบูรณ์ คำถามชวนคิดก็คือ “ข้อมูลที่สมบูรณ์แบบไร้ข้อโต้แย้งมีอยู่จริงหรือ?”
แต่อย่างน้อย งาน 2020 Budget Visualized ของ Malaysiakini ที่นำเอาข้อมูลการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในปี 2020 มาแสดงในรูปแบบ Data Visualization พร้อมบทความประกอบประเด็นสั้น ๆ เช่น งบประมาณน้อยลงจากปีที่แล้วจริงหรือ? งบดำเนินงานกับงบลงทุนมากน้อยต่างกันอย่างไร? เงินมาจากไหน? ก็นำประชาชนเข้าใกล้ความจริงได้มากขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงการเข้าถึงเอกสาร pdf แต่เป็นเรื่องราวงบประมาณที่นักข่าวคัดสรรมาให้แล้วอาจไม่ยิบย่อย แต่ก็กระชับและเข้าใจง่าย ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการแสดงงบประมาณในรูปแบบ Dashboard เช่น usafact.org ของอเมริกาที่เป็นเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์
ปีเตอร์ เปิดสไลด์ของ Punch Up ที่ผมแชร์ให้เขาไปคืนก่อน แล้วถามผมว่า “อะไรที่คุณหมายถึง Impactful Communication?” แล้วทำไมต้องมีองค์ประกอบของ Design + Data + Story พร้อมกัน ผมคิดว่า ความจริงมีอยู่ ความสงสัยมีอยู่ เมื่อมีข้อมูลที่ดีก็คือมีหลักฐาน มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ เมื่อมีการออกแบบที่ดีก็ทำให้เกิดการสื่อสารที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ง่าย ตรงใจ การเล่าเรื่องที่ดีก็ทำให้ตีประเด็นได้แตก มันทำให้การสื่อสารมีพลัง สุดท้ายเมื่อผู้รับสารรับรู้และเข้าใจก็เกิดแรงกระเพื่อม Impactful Communication ไม่ได้หมายเฉพาะสื่อที่เราทำ แต่รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในใจผู้รับสารโดยตรง
Data Journalism มีบทบาทอย่างไรกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและประชาธิปไตย
ผมยกตัวอย่างงาน ELECT ชิ้น Business & Politics ที่เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลเปิดเท่าที่เราจะหาได้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง 3 แหล่ง ได้แก่ (1) รายชื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งจากฐานข้อมูลที่ ELECT รวบรวมและปรับปรุงเอง (2) ข้อมูลบริษัทที่เป็นคู่ค้าภาครัฐจากเว็บไซต์ภาษีไปไหน และ (3) ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์จากเว็บไซต์ creden.co ซึ่งนำไปสู่เครื่องมือที่สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมือง ธุรกิจและโครงการของรัฐ งานนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามบริบทและการนำเสนอที่คนทั่วไปเข้าใจได้ ทำให้การมีส่วนร่วมเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ไอดีลายกตัวอย่างงาน 10 promises in 100 days ที่หยิบเอาคำนโยบายของพรรคการเมือง 10 ข้อ ที่สัญญาว่าจะทำให้สำเร็จภายใน 100 วัน มาสร้างเนื้อหาการเกาะติดความคืบหน้า แจกแจงและสรุปผล ซึ่งเมื่อครบกำหนดก็สำเร็จสมบูรณ์ไป 2 สำเร็จบางส่วน 5 และกำลังดำเนินการ 3 เธอเลือกนำเสนอเป็นเช็คลิสต์เรียงเป็นข้อ ๆ ซึ่งเข้าใจง่าย และมีความเป็นแพล็ตฟอร์มที่สามารถทำซ้ำกับพรรคอื่น ๆ หรือการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปได้ ผมได้ยินคนพูดถึงไอเดียนี้บ่อย ๆ แต่ไม่ค่อยเห็นเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้เท่าไร ยอมรับว่า Malaysiakini ได้ทำให้กระบวนการทางประชาธิปไตยหยิบจับได้ และทำหน้าที่ Data Journalist ที่ควรได้รับคำชื่นชม
เพราะในยุคข้อมูลข่าวสาร อาจเป็นการเรียกร้องผู้ชมหรือผู้อ่านมากเกินไปในการเข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์ ทั้งในระยะใกล้และไกล เป็นบทบาทที่ท้าทายของ Data Journalism ที่จะไม่ปั่นป่วนไปกับข้อมูลที่อาจเป็นทองหรือแค่ขยะ
แต่สัญชาติญาณในการจับประเด็นที่สั่งสมมา ผนวกกับเครื่องมือและเทคโนโลยี จะทำให้ภาพที่พร่ามัวในสังคมกลับกระจ่างชัด ที่สำคัญ ต้องแยกให้งานที่ต้องทำให้ทันกับเหตุการณ์ กับงานที่ทำแล้วเป็นผลงานอ้างอิง เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม
Data Journalism ควรได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาสื่อในประเด็นไหน?
สิ่งสำคัญที่ผมและไอดิลาเห็นตรงกันคือ Data Journalism ต้องการปัจจัยร่วม 3 อย่าง ได้แก่ ‘การสร้างเครือข่าย’ ระหว่างสื่อและสำนักข่าวต่าง เช่น การแบ่งปันความรู้ทั้งด้านการเล่าเรื่อง เทคโนโลยี การออกแบบและจัดการ ซึ่งยังแยกกันทำ ทั้งที่จริง ๆ (โดยเฉพาะใน SEA) ก็มีอยู่ไม่กี่ราย แต่ด้วยความต่างภาษา และเนื้อหาที่ไม่เป็นที่สนใจในสากล จึงเทียบสเกลกับงานจากฝั่งตะวันตกไม่ได้ อาจถึงเวลาที่จะสร้างกลุ่มก้อน Data Journalism ขึ้นมาเอง การจัด Data Journalism Awards ฉบับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นแนวคิดที่ราต่างสนใจ
เรื่องที่สองคือ ‘การหาทุน’ แน่นอนอย่างที่สุดว่างาน Data Journalism ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น บางครั้งเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มจำนวนคลิกหรือยอดคนดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมีการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ การประมวลผลและแสดงผลที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การจัดหาหรือพัฒนาทีมที่มีต้นทุน มีร์โกแสดงความคิดเห็นในแง่บวกว่า เรามีเครื่องมือที่ช่วยให้เราสร้างผลงาน ในราคาที่ถูกหรือใช้ฟรีเลยก็มี การเผยแพร่ก็สะดวก คนก็เข้าถึงข่าวสารได้ง่ายจากทั่วโลก แต่ก็เห็นตรงว่า ถ้าจะจริงจังก็ต้งมีเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอ
เรื่องที่สาม คือ ‘ทรัพยากร’ Data Journalism จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี Data ที่ดี ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็ได้ เราพูดถึงปัญหาเรื่องการเปิดข้อมูลในรูปแบบ pdf ทั้งแบบ export และแบบสแกน (ที่ชอบพ่วงด้วยตราปั๊ม รอยขีดฆ่า ฝุ่นเกาะ หรือเอกสารเอียงไปมา) อย่างไรก็ตาม เหล่า Data Journalist ก็มีหน้าที่ไปเสาะหา ยื่นหนังสือ ฟ้องร้อง เพื่อเอามันมาให้ได้ โดยทำหน้าที่ประหนึ่ง Data Activist ก็ไม่ปาน
ผมขอยกตัวอย่างโครงการของ เนสทรีน จาก albawsala.com ที่รู้จักกันหลังเวที เธอใช้ทีมงาน 9 คนทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าบันทึกความเคลื่อนไหวทุกอย่างในรัฐสภาของตูนิเซีย (ของเขาไม่มีระบบเก็บข้อมูลและไม่มีการเปิดเผยข้อมูล) โดยเก็บข้อมูลละเอียดถึงขั้นใครคุยกับใครบ้าง (ไม่เป็นทางการ) และยังชวนให้พัฒนางานของ ELECT ร่วมกับระบบ Watchdog ที่ทีมของเธอทำเป็น Opensource ไว้แล้วอีกด้วย
นอกเหนือจากเรื่องข้อมูล ก็คือทรัพยากรบุคคล ที่ในอนาคตเราคงจะได้เห็นคนข่าวพัฒนาทักษะตัวเองข้ามสายงานหรือมีคนนอกวงการเข้ามามีส่วนใน Data Journalism มากขึ้น ทั้งโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ นักวิเคราะห์ นักธุรกิจ และอื่น ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับสำนักข่าวหรือสื่อต่าง ๆ ด้วยว่าจะปรับหาโมเดลธุรกิจให้สามารถสร้างทั้งรายได้ ทั้งงาน ทั้งคน ไปพร้อม ๆ กันด้วยรูปแบบไหน อย่างไร
“Data Journalism: A win for citizens and democracy?” ไม่ใช่ชัยชนะแต่เป็นก้าวสำคัญ หัวข้อวงคุยที่เริ่มด้วยเครื่องหมายคำถามหนึ่งอัน แต่เพิ่มเป็นสิบอันตอนจบ ไม่ใช่เพราะความสงสัยถึงที่ทางของ Data Journalism ในสังคมที่เราต่างแสวงหา แต่เป็นการย้ำเตือนกันและกันว่า ที่สุดแล้วเราทำไปเพื่อใคร หากไม่ใช่ประชาชนและ/หรือประชาธิปไตย นั่นคือความรู้สึกที่พอสัมผัสได้จากวันนั้น
Note:
- ขอบคุณ Friedrich Naumann Foundation for Freedom ที่ให้โอกาสไปร่วมงานเสวนาและวงพูดคุยในครั้งนี้
- Deutsche Welle สื่อสาธารณะของประเทศเยอรมนี ดำเนินงานด้วยเงินภาษี แต่ผลิตและเผยแพร่เนื้อหาสากล
- ไอดิลา ราซัก (Aidila Razak) บรรณาธิการข่าวพิเศษ ประจำมาเลเซียคินี Data Journalism ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการเมือง เศรษฐกิจและสังคม มีประสบการณ์การทำงานกับ Google News Lab, Guardian Data Desk, BBC World Service ปัจจุบันประจำที่ Malaysiakini.com สำนักข่าวอิสระจากประเทศมาเลย์เซีย ที่มีจุดยืนด้านความเสมอภาคและประชาธิปไตย เจาะลึกด้ารการเมือง คอรัปชั่นและความโปร่งใส
- มีร์โค โลเรนซ์ (Mirko Lorenz) ผู้สื่อข่าวที่ค่อยๆ ผันตัวมาสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาห้องข่าวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันทำงานใน Deutsche Welle Innovation Team เพื่อพัฒนาโครงการระดับยุโรปและสากล และเป็น CEO ของ Journalism++ และ Datawrapper