Skip to content
Article/Knowledge

Checklist ในการทำ Data Storytelling ให้อิมแพค

Create meaningful conversations with data.

เป็นเป้าหมายในการทำงานของ Punch Up มาตลอด 3 ปี เพราะพวกเราเชื่อว่าการสื่อสารข้อมูลที่ดี (Data Storytelling) จะช่วยทำให้ผู้คนและสังคม สนใจ เข้าใจ ตั้งคำถาม และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในสังคมกันได้อย่างหลากหลาย สร้างสรรค์ และอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลมากขึ้น รวมถึงเราเองก็เชื่อว่า.. ใครอีกหลายคนที่สนใจหรือทำงานด้านนี้อยู่ ก็อยากทำ Data Storytelling ที่ ‘มีอิมแพค’ ในสังคมเช่นกัน

พวกเรามักชวนคิดชวนคุยร่วมกันในทีม และร่วมกับคนที่มาทำงานร่วมกับเราเสมอ ว่า ควรมีอะไรบ้าง เพื่อให้งานของเราเป็น Data Storytelling ที่ ‘meaningful’ หรือ ‘มีอิมแพค’ ต่อสังคม? อาจจะเป็นการสร้างบทสนทนาใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

ภาพของ Brent Dykes ที่พูดถึง 3 ปัจจัยสำคัญของ Data Storytelling ไว้ใน Forbes น่าจะเป็นสิ่งที่เป็น Checklist ความ meaningful’ หรือ ‘มีอิมแพค’ ให้กับพวกเรา หรือใครที่อยากทำ Data Storytelling ได้

  1. Data: มีการอธิบายและวิเคราะห์ให้คนดูคนอ่าน เข้าใจข้อมูลที่นำมาใช้อย่างครบถ้วน รวมทั้งสามารถตั้งคำถามกับชุดข้อมูลที่นำมาใช้ได้
  2. Narrative: มีเรื่องราวที่ช่วยชี้จุดที่น่าสนใจ และข้อค้นพบ (Insights) จากข้อมูล รวมถึงเชื่อมโยงกับบริบทที่เกี่ยวข้อง ถ้าจะให้ดี อาจช่วยชี้เป้าว่าข้อมูลและสิ่งที่ค้นพบจากตรงนี้ สามารถนำไปสู่การใช้งานหรือต่อยอดอย่างไรได้บ้าง
  3. Visualisations: มีภาพที่ช่วยสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นให้เข้าใจได้ง่ายและเร็วขึ้น รวมถึงสะท้อน Narrative ที่ตั้งใจสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจน

หากขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไป งานนั้นก็อาจทำหน้าที่ของมันได้ แต่ไม่สมบูรณ์ตามที่ Data Storytelling ควรจะเป็น เช่น ถ้าขาด Narrative ที่ดี Data + Visualization ก็อาจทำให้คนเห็นข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้เข้าใจว่ามันน่าสนใจหรือสำคัญอย่างไร

นอกจากมีองค์ประกอบ 3 อย่างแล้ว Jennifer Ingham ยังให้ Guidelines สำหรับ Data Storytelling ไว้เพิ่มเติมอีก 4 ข้อ เพื่อให้ Data Storytelling ที่เราทำนั้นสมบูรณ์มากขึ้น

1. บอกเหตุผลที่เราสื่อสารเรื่องนี้

ไม่ต้องกลัวว่าจะสปอยล์ แต่การบอกไปเลยตั้งแต่ต้น จะช่วยจูงใจให้คนดูคนอ่าน และทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าเวลาที่พวกเขาจะใช้เพื่อดูงานนี้ พวกเขาจะได้อะไรกลับไป เช่น งานนี้ตั้งใจที่จะบอกเล่าข้อค้นพบ (Insight) ใหม่ ในประเด็นที่ไม่เคย (หรือไม่ค่อย) หยิบยกมาพูดคุยกันมาก่อน หรือต้องการจะอธิบายสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว แต่มีอะไรใหม่ๆ จากชุดข้อมูล หรืออยากชวนตั้งคำถามผ่านชุดข้อมูลที่หยิบมาให้ดู

2. อธิบายถึงวิธีทำงานและข้อจำกัดของข้อมูล

เพื่อให้ Data Storytelling น่าเชื่อถือ และคนดูคนอ่านสามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานต่อได้ถูกต้องในบริบท เราควรบอกให้ชัดในงานที่เราทำว่า อะไรคือวิธีการในการเก็บและประมวลผลข้อมูล (Methodology) ที่ใช้ในงานนี้ ทำไมถึงเลือกแบบนี้ และทำไมถึงไม่เลือกแบบอื่น อะไรเป็นข้อจำกัด หรืออาจจะเป็นอคติที่เกิดขึ้นได้จากข้อมูลหรือการตีความ มีอะไรที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน แล้วคนอ่านควรรู้ไว้ด้วยไหม ไม่ต้องกังวลที่จะเปิดเผยทุกอย่างออกไป เพราะนั่นจะทำให้คนอ่านได้เข้าใจกระบวนการร่วมไปกับเรา ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ที่เห็น แล้วเกิดคำถามในใจตามมามากมาย

3. เลือกชาร์ต / Visualization ที่ช่วยสื่อสาร

Visualization แม้จะช่วยเพิ่มความสวยงามและดึงดูดใจในงาน Data Storytelling แต่ประเด็นหลักไม่ใช่ ‘ความว้าว’ แต่คือการเลือกวิชวลที่ทำให้คนเข้าใจข้อมูลหรือมีประสบการณ์ร่วมกับข้อมูลได้มากที่สุด รวมถึงช่วยสัมพันธ์และส่งเสริมเรื่องราวที่ต้องการบอก (Narrative) ให้ออกไปได้ชัดมากขึ้น ดังนั้นการบาลานซ์ระหว่างความชัดเจน (Clarity) กับความสวยงาม (Appealing) จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดีไซเนอร์หลายคนแนะนำว่าให้ ‘ทำเท่าที่จำเป็น’ ก็พอ โดยปกติ แค่ 1–2 วิชวลในงานก็เพียงพอแล้ว

4. ใส่ใจกับการนำเสนอข้อมูลที่อาจจะอ่อนไหว

ในการสื่อสารข้อมูลที่อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคม เช่นเรื่อง เชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือความเห็นต่างทางการเมือง ให้ระวังเรื่องการใช้ภาษาหรือวิธีการแปลข้อมูลที่อาจทำให้เกิดอคติหรือการเหยียด ควรให้บริบทประกอบของข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมที่สุด แสดงถึงข้อควรระวังในการใช้ข้อมูล ใช้ภาษาที่มีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และไม่ชี้นำด้วยอคติส่วนตัวใดๆ

โดยปกติแล้ว มนุษย์มักจดจำสิ่งของหรือประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้ผ่านภาพและเรื่องราวที่พวกเขารู้สึกเกี่ยวข้อง (เหมือนภาพจำจากวัยเด็กหรือภาพยนตร์) การทำ Data Storytelling ก็มีหลักการเดียวกัน คือคนดูคนอ่านจะจดจำงานของเราได้ ผ่านภาพและเรื่องราวที่ข้อมูลเหล่านั้นเกี่ยวโยงกับชีวิตของเขา 3+4 Checklist นี้ น่าจะพอเป็นแนวทางเบื้องต้นให้เรารีเช็คตัวเองในการคิดและทำงาน Data Storytelling ทุกครั้ง ว่ามันจะนำไปสู่ ‘อิมแพค’ ที่เราหวังไว้ได้รึเปล่า

 

Engagement ➜ Remembrance ➜ Impact

 

Reference:

 

 

<Author>
Part-time Business Leader, Lifetime Storyteller