Skip to content
Article/Review

โลกในปีนี้เป็นยังไง? ย้อนดูผ่าน Data Journalism แห่งปี 2021

สองปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า.. ข้อมูลข่าวสารที่เต็มหน้าฟีดทุกคนน่าจะเป็นเรื่องของ COVID-19 แต่จริงๆ แล้วยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ถูกตั้งคำถาม และพยายามขับเคลื่อนอยู่ในสังคมทั่วโลก

ปัญหาสภาพอากาศที่เริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ผ่านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เรื่องของความรุนแรงทางเพศที่หยิบยกมาถกเถียงเป็นประเด็นใหญ่ หรือการเรียกร้องความรับผิดชอบจากผลผลิตของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ก็มีเรื่องราวและข้อมูลไม่น้อยที่(ควรจะ)อยู่ในการรับรู้ของพวกเรา เพื่อการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของความเข้าใจ และการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลด้วยตนเอง

เว็บไซต์ datajournalism.com จึงได้เลือกเอา 12 งาน Data Journalism แห่งปี 2021 มาชวนให้ทุกคนดูเพื่อทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมากัน

 

Pandora Papers – ICIJ

ต้องเรียกว่าเป็นการสืบสวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี เมื่อ ICIJ ได้เปิดเผยชุดเอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับที่รั่วไหลจากสำนักกฎหมายและผู้ให้บริการวางแผนธุรกิจสัญชาติปานามา ซึ่งระบุข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนนอกประเทศกว่า 214,000 บริษัท พร้อมระบุตัวตนของผู้ถือหุ้นและผู้อำนวยการของบริษัทเหล่านั้น ที่ล้วนเป็นบุคคลและองค์กรทางการเมืองที่ทรงอำนาจจากหลายประเทศ ซึ่งมีบุคคล/องค์กรจากประเทศไทยถึง 780 รายชื่อ

การสืบสวนครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนักข่าวกว่า 600 คนจากสำนักข่าว 150 แห่ง ที่ต้องวิเคราะห์เอกสารและข้อมูลจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือ ICIJ ได้เปิดเผยเทคโนโลยีที่ใช้ในการเจาะลึกข้อมูลและช่วยให้นักข่าวทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Datashare และ iHub (ใช้ภายใน) พร้อมด้วยการเปิดเผยข้อมูลระหว่างองค์กรแบบที่เขาเรียกว่า ‘radical sharing’ หรือขุดเจออะไรก็เปิดหมดเปลือก

ลองไปดูกันได้ที่ https://www.icij.org/investigations/pandora-papers

 

Afghanistan, visualising 20 years of war – AlJazeera

เหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากอัฟกานิสถาน และการปฏิวัติของกลุ่มตาลิบัน นับเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ของโลกในปีนี้ สำนักข่าว Al-Jazeera จึงฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นแง่มุมของความทุกข์ทรมานของมนุษย์อันเป็นผลมาจากสงครามหลายทศวรรษ ผ่านมิติความเป็นมนุษย์ผ่านชุดข้อมูล ภาพถ่าย วิดีโอ และตัวละครที่ถูกหยิบยกมาเล่าเรื่อง

ที่น่าสนใจมากๆ คืออินโฟกราฟิกแต่ละภาพในงานนี้ สามารถสะท้อนได้ตั้งแต่ปริมาณต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปเพราะสงคราม จนถึงต้นทุนความสูญเสียของมนุษย์ ซึ่งบรรณาธิการก็บอกว่าไม่ง่ายเลยกับการหาข้อมูลให้ได้ครบถ้วนจากทุกพื้นที่ในอัฟกานิสถาน

ลองไปดูกันได้ที่ https://interactive.aljazeera.com/aje/2021/afghanistan-visualising-impact-of-war/index.html

 

Hot and humid Olympic summer – Reuters Graphics

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้ว่ามีการแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวเมื่อเดือนกรกฎาคมในปีนี้ แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือนี่คือโอลิมปิกฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งหมายความว่านักกีฬาไม่เพียงต้องรับมือกับ COVID-19 แต่ยังต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่แผดเผาและความชื้นขั้นสูง

นอกจาก Heat Map ที่ทำให้เห็นอุณหภูมิอันร้อนแรงแล้ว การอธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนกับอาการป่วยของนักกีฬา หรือข้อมูลที่ว่าเหงื่อทำให้ร่างกายเย็นลงได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องท้าทาย แต่ออกมาสนุกมากสำหรับทีมข่าว Rueters

ลองไปดูกันได้ที่ https://graphics.reuters.com/OLYMPICS-2020/SUMMER-HEAT/bdwvkogrzvm/index.html

 

Digital Violence: How the NSO group enables state terror – Forensic Architecture

แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดย Forensic Architecture นี้ เพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคามบรรดานักข่าว นักเคลื่อนไหว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ตกเป็นเป้าหมายของ Pegasus เครื่องมือที่บรรดารัฐเผด็จการใช้จับตาประชาชน โดยมีตั้งแต่ข้อมูลการซื้อขายซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงเหตุการณ์ในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อ ตั้งแต่การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย การหมิ่นประมาท และแม้กระทั่งการฆาตกรรม

ทีมวิจัยได้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซเพื่อนำเสนอข้อมูลนี้ ทั้งในรูปแบบ 3 มิติที่แสดงพื้นที่ปฏิบัติการจากเอกสารของ NSO หรือวิดีโอ Pegasus Stories ที่ทำเป็นภาพยนตร์สั้นบอกเล่าประสบการณ์การถูกสอดแนม ความหวาดกลัว และผลกระทบทางจิตใจของนักขับเคลื่อนภาคประชาสังคมที่ตกเป็นเป้า นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นเสียง (Data Sonification) เพื่อให้ฟังข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วย

นอกจาก Visualization ที่น่าตื่นเต้นแล้ว ความท้าทายในการสืบสวนยังทำให้งานนี้น่าประทับใจเข้าไปอีก เพราะอย่าลืมว่า ผู้พัฒนาสปายแวร์เหล่านี้ก็มีความก้าวหน้าและผู้เชี่ยวชาญจนการติดตามนั้นเป็นไปได้ยากเหลือเกิน

ลองไปดูกันได้ที่ https://www.digitalviolence.org

 

The underwater ‘hotspot’ feeding La Palma’s volcano will create new islands – El País

การระเบิดของภูเขาไฟในเมืองลาปัลมา ประเทศสเปน ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในปีนี้ โดยสำนักข่าว El País ได้เผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดภูเขาไฟของหมู่เกาะคานารีโดย เพื่อให้คนอ่านเข้าใจพลังของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและการทำลายล้างนี้

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับงานนี้ น่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลภูมิศาสตร์ และเหตุการณ์ปัจจุบันมาอธิบายร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยน่าชื่นชมว่าข้อมูลเหล่านั้นมาจากแหล่งข้อมูลของรัฐบาลท้องถิ่น บันทึกสาธารณะ และระบบดาวเทียมโคเปอร์นิคัส

ลองไปดูกันได้ที่ https://english.elpais.com/science-tech/2021-10-06/the-underwater-hotspot-feeding-la-palmas-volcano-will-create-new-islands.html

 

Following The Science – The Pudding

การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ในช่วงเวลาที่ทำลายสถิติไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้การร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์และสถาบันหลายแห่งทั่วโลก The Pudding จึงรวมรวมและแจกแจงให้เราเห็นว่าใครบ้าง ที่มีส่วนในการทำงานนี้และทำให้เรามีวัคซีนฉีดกันตอนนี้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตงานชิ้นนี้ยังยกประเด็นที่ว่าการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ในยุคนี้ มีแนวโน้มที่จะมุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์เท่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจบดบังกระบวนการและการเปิดเผยความรู้ใหม่บางอย่าง ซึ่งอาจจะส่งผลที่ไม่คาดคิดอื่นๆ อีกหลายประการ อย่างแนวคิดที่ทำให้เข้าใจผิดว่าวิทยาศาสตร์มีความชัดเจนและสมบูรณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจของสาธารณชนเมื่อใดก็ตามที่ความรู้ดีขึ้น

ส่วนที่ท้าทายและใช้เวลานานที่สุดสำหรับงานนี้ คือการระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ของความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการเชื่อมโยงรายชื่อของนักวิจัยแต่ละคนที่ปรากฏใน 93,593 บทความ!

ลองไปดูกันได้ที่ https://pudding.cool/2021/03/covid-science

 

The COVID-19 vaccination tracker – Reuters

ในปีนี้ นักข่าวจำนวนมากเผชิญกับความท้าทายตามหาเครื่องมือแสดงข้อมูลเรื่องการระบาดของ COVID-19 และข้อมูลวัคซีนแบบเรียลไทม์ งานหนึ่งที่โดดเด่นต้องยกให้ Reuters

ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังเครื่องมือติดตามนี้ สร้างหน้าเว็บที่เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการวัคซีนทั่วโลก รวมถึงการเปรียบเทียบระหว่างประเทศตามภูมิภาคและระดับรายได้ Reuters ใช้ประโยชน์จากการมีนักข่าวอยู่ทั่วทุกมุมโลก ติดตามและทำความเข้าใจนโยบายการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศ ตั้งแต่สิทธิ์ในการได้รับวัคซีน และผลกระทบของการนโยบายการฉีดวัคซีน เพื่ออัพเดทข้อมูลให้ทันการณ์ได้ตลอดเวลา

ลองไปดูกันได้ที่ https://graphics.reuters.com/world-coronavirus-tracker-and-maps/vaccination-rollout-and-access

 

America’s food safety system failed to stop a salmonella epidemic. It’s still making people sick – ProPublica

เมื่อในปี 2019 กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ปิดการสอบสวนเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อซัลโมเนลลาในประเทศ ผู้คนอาจสันนิษฐานว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ตาม ProPublica แสดงให้เห็นว่าทางการหยุดสอบสวนการระบาด แม้ว่าจะมีหลักฐานที่บ่งบอกว่าคดียังไม่สิ้นสุด

ทีมงานได้ใช้กฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (FOI) ขอข้อมูลเกี่ยวกับพืชสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ Salmonella และข้อมูลทางระบาดวิทยาของผู้ที่ป่วย มาสร้างเครื่องมือได้ ช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาตำแหน่งของเคสได้ ด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาล การสอบสวนนี้จึงใช้เวลาถึง 8 เดือน ก่อนจะเปิดเผยว่ามีจุดอ่อนที่ร้ายแรงในในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และเรียกร้องให้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของอาหารต่อไปในอนาคต

ลองไปดูกันได้ที่ https://www.propublica.org/article/salmonella-chicken-usda-food-safety

 

Sexual violence in Singapore – Kontinentalist

Kontinentalist และ Women Unbounded ร่วมมือกันสอบสวนความรุนแรงทางเพศในสิงคโปร์ และนี่เป็นเรื่องราวของความรุนแรงทางเพศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเรื่องแรกของประเทศ งานชิ้นนี้เน้นย้ำรูปแบบสำคัญเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ นับตั้งแต่อายุเฉลี่ยของเหยื่อ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและผู้กระทำความผิด ไปจนถึงความเปราะบางของเหยื่อ ในขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กฎหมายในสิงคโปร์ได้ก้าวขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ความอับอายและการตีตราผิดที่ผิดคน ทำให้หลายกรณีไม่ได้รับการรายงาน

แง่มุมที่ท้าทายที่สุดของงานชิ้นนี้คือการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากขาดข้อมูลทางการและกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (FOI) ที่ยังไม่แข็งแรงนักในสิงคโปร์ ทีมงานจึงอาศัยการค้นหาบทความด้วยตนเองและตรวจสอบแต่ละรายการ

ลองไปดูกันได้ที่ https://kontinentalist.com/stories/sexual-assault-and-abuse-in-singapore-need-more-than-the-law

 

The climate crisis, by the numbers: Your guide to humanity’s greatest challenge – BuzzFeed News

น้ำท่วมรุนแรงในเยอรมนี ไปจนถึงไฟป่าที่ควบคุมไม่ได้ในกรีซ และหิมะที่ตกลงมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสเปน น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงที่มนุษย์สมัยใหม่เคยเผชิญมา

ในปีที่ผ่านมา อาจจะมีการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป แต่การรวบรวมเรื่องราวและข้อมูลทั้งหมด น่าจะทำให้มนุษยชาติเห็นภาพใหญ่ และตระหนักถึงภัยคุกคามครั้งนี้ได้ชัดเจนขึ้น ทีมข่าว BuzzFeed จึงตั้งใจรวบรวม ตรวจสอบ และเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด เพื่อใช้ให้เห็นถึงต้นทุนของมนุษย์ที่สูญเสียไปในวิกฤตการณ์ต่างๆ และส่งเสียงกดดันผู้ที่อยู่ในอำนาจ โดยเฉพาะในงาน COP26 ที่ผ่านมา

ลองไปดูกันได้ที่ https://www.buzzfeednews.com/article/peteraldhous/climate-change-data-charts-guide-crisis

Visualised: Glaciers then and now – The Guardian

The Guardian ได้ทำการสำรวจการหดตัวของธารน้ำแข็ง 90 แห่งทั่วโลกทำให้เราเห็นว่าธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และส่งผลที่ตามมามากมาย งานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลจากการวัดน้ำแข็งบนพื้นดินทั่วโลกจากอวกาศ (Glims)

ลองไปดูกันได้ที่ https://www.theguardian.com/environment/ng-interactive/2021/apr/29/visualised-glaciers-now-and-then

What It takes to understand a variant – The New York Times

เมื่อพูดถึงการรายงานข่าวของ COVID-19 ในปัจจุบัน เราทุกคนต่างก็พยายามหาข้อมูลที่ชัดเจนและเกี่ยวข้องเพื่อที่จะใช้ชีวิตกันอย่างปลอดภัย แต่สิ่งที่เราเจอมักจะเป็นความไม่แน่นอนของจำนวนและมาตรการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องของอัตราผู้ป่วย การเสียชีวิต วัคซีน การกลายพันธุ์ของไวรัส และข้อจำกัดของรัฐบาล

ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนนี้ บางครั้งวิธีที่ดีที่สุดคือการทำความเข้าใจสายพันธุ์ของไวรัส นี่คือสิ่งที่ The New York Times พยายามนำเสนอ ด้วยการอธิบายขั้นตอนที่จำเป็นในการทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น Omicron หรือสายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคตก็ตาม โดยแบ่งเป็น 1) การจัดลำดับและการติดตามกรณีผู้ติดเชื้อ 2) การระบุการแพร่กระจายของไวรัส 3) การตรวจสอบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ และ 4) การพิจารณาความรุนแรงของไวรัส ในแต่ละส่วน จะอธิบายจุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบันและอะไรต่อไป โดยใช้ชาร์ตง่ายๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่าน

ลองไปดูกันได้ที่ https://www.nytimes.com/interactive/2021/12/14/science/omicron-variant-science.html

 

ทั้งหมดที่รวมมานี้ น่าจะทำให้เห็นการเติบโตของงาน Data Journalism ทั่วโลก ที่ทำให้เห็นถึงการสื่อสารที่ทรงพลัง การเปิดเผยมิติของข้อมูลหรือ insight ใหม่ๆ ที่การรายงานข่าวเป็นชิ้นๆ อาจยังให้ไม่ได้ ไปจนถึงผลกระทบในการแก้ปัญหาของสังคม พวกเราก็หวังจะเห็นวงการนี้เติบโตขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio