วัคซีนมาแล้วไปไหน? เงินกู้ กู้มาแล้วเอาไปใช้อะไรบ้าง? “แค่รัฐเปิดข้อมูล.. มันยากตรงไหน?!?” เป็นคำถามที่คาใจมานาน สำหรับพวกเรา.. คนทำงานด้านข้อมูลและประชาชนคนหนึ่งของประเทศนี้
จาก Punch In Live EP.01 : ฮาวทู..เปิดข้อมูลรัฐในช่วงโควิด-19 เราเลยสรุปประเด็นต่างๆ มาให้อ่านกัน หรือจะไปตามฟังกันที่นี่ก็ได้ ?? https://www.facebook.com/punchupworld/videos/567556557759579
ข้อมูลเปิดภาครัฐในสถานการณ์โควิด-19
แม้จริงๆ แล้ว “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” (Open Government Data) จะเป็นเรื่องที่หลายๆ คน หลายๆ องค์กรพยายามผลักดันมานานแล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องเปิดและใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อการสื่อสารที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อใจและเข้าใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ หาทางรับมือ วางแผน และแก้ปัญหาด้วยกัน
รัฐต้องเปิดข้อมูล ‘อะไร’ บ้าง?
เมื่อพูดถึงข้อมูลในสถานการณ์โควิด-19 สิ่งแรกที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นข้อมูลด้านสาธารณสุข เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ หรือยอดการฉีดวัคซีน แต่จริงๆ แล้วข้อมูลซึ่ง ‘เป็นที่ต้องการ’ ในยามวิกฤติไม่ได้มีแค่นี้ โปรเจคที่ชื่อว่า #Data4COVID19 โดย The GovLab – New York University ได้สำรวจและวิจัย สรุปให้เห็นข้อมูล 3 ด้านสำคัญที่ต้องมีและต้องนำมาวิเคราะห์ในยามโควิด ดังนี้ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
-
- ข้อมูลด้านสาธารณสุข เช่น การแพร่กระจายโรค การรักษาโรค และทรัพยากรของระบบสาธารณสุข เช่น จำนวนเตียง หน้ากากอนามัย วัคซีน เป็นต้น
- ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ เช่น การว่างงาน ความยากจน และผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น เป็นต้น
- ข้อมูลด้านสังคม เช่น ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ผลกระทบด้านการศึกษา และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ข้อมูลแต่ละด้านจะช่วยทำให้รัฐและสังคมเข้าใจสถานการณ์และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในช่วงวิกฤติต่อยังจำเป็นไปถึงหลังวิกฤติอีกด้วย
หัวใจสำคัญของการเปิดข้อมูลภาครัฐในยามวิกฤติ คือการสร้างความ ‘โปร่งใส’ รายงาน Open Data in Action ซึ่ง GovLab ร่วมกับ OECD เน้นย้ำความสำคัญของการเปิดข้อมูลยามวิกฤติว่า เป็นการทำให้ประชาชนได้ติดตามรับรู้ข้อมูลที่สำคัญจำเป็น และมีข้อมูลเพียงพอในการสร้างกลไกสำรวจตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจต่อรัฐ ในยามที่เราต้องพึ่งพารัฐมากที่สุดเช่นนี้ได้
นอกจากจะต้องคิดว่าควรเปิดข้อมูลอะไร รัฐควรต้องคิดด้วยว่าจะ’เปิดข้อมูลให้ใคร’ ข้อมูลเปิดของภาครัฐไม่ได้มีประโยชน์แค่กับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมที่สามารถหยิบเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาสังคม รัฐบาลท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคเอกชน ที่น่าสนใจก็คือในช่วงวิกฤติโควิดนี้เราได้เห็นภาคประชาสังคมในหลายประเทศทั่วโลก ลุกขึ้นมาหยิบจับข้อมูลเพื่อพัฒนา Civic Tech ช่วยรัฐรับมือกับวิกฤติกันไม่น้อย
รัฐต้องเปิดข้อมูล ‘อย่างไร’ บ้าง?
อีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐของทุกประเทศควรต้องคิดให้มาก คิดให้หนัก คือข้อมูลที่เปิดเหล่านั้น ควรเปิดเพื่อให้คนอื่นๆ (ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ภาคประชาชน หรือภาคเอกชน) นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากที่สุด ดังนั้น เช็คลิสต์ที่ภาครัฐควรดำเนินการให้เกิดขึ้นได้ในการเปิดข้อมูลคือ
-
- เปิดข้อมูลใน ‘รูปแบบ’ ที่เหมาะสม
- Open by Default : “เปิดเป็นปกติ ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” เป็นใจความสำคัญของทุกๆ Open Data Standards คือ ‘เปิดให้หมด’ เป็นฐานคิดก่อน แล้วค่อยมาเลือกว่าอันไหนที่ควรกำหนดชั้นความลับ ซึ่งจริงๆ แล้วก็น่าจะง่ายกว่ามานั่งเลือกว่าอะไรควรเปิดบ้างด้วยซ้ำ
- Machine-Readable Format : ในสหรัฐฯ บอกว่าข้อมูลที่รัฐเปิดควรเป็น “Data not Document” หรือการทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่มีโครงสร้างและเครื่องอ่านได้ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่ได้ง่าย ซึ่งนั่นจะต้องเป็นไฟล์ CSV, XLS, XLSX, XML, JSON, API แต่ไม่เอา PDF, JPG โดยสามารถดูมาตรฐานของหน่วยงานรัฐไทยได้ที่ https://data.go.th/pages/about-open-data
- เปิดข้อมูลอย่างมี ‘คุณภาพ’
- Correct : เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องที่สุด แต่หากมีกรณีที่มีข้อผิดพลาด รัฐก็ควรยอมรับคำแจ้งเตือนจากประชาชน และดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด
- Complete : มีความครบถ้วน-สมบูรณ์ที่สุด
- Timely : มีการอัพเดทสม่ำเสมอ ทันต่อการใช้งาน ณ ปัจจุบัน
- Non-Aggregrated : เปิดให้ละเอียดที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และตั้งคำถาม
- เปิดข้อมูลใน ‘รูปแบบ’ ที่เหมาะสม
Data Product ของรัฐประเทศต่างๆ (เผื่อลอก)
รายงาน Open Data in Action ที่ GovLab ร่วมกับ OECD สำรวจการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสร้างเครื่องมือและตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆ แบ่งเป็น 6 รูปแบบหลักๆ คือ
- Data Repository : ในช่วงแรกๆ ของการระบาด พบว่าข้อมูลเปิดของภาครัฐเกี่ยวกับ COVID-19 จะอยู่ในรูปแบบพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ แสดงข้อมูลแบบตรงไปตรงมา มีการอัพเดทข้อมูลรายวันสม่ำเสมอ และสามารถดาวน์โหลดไปใช้ต่อได้ โดยข้อมูลที่อัพเดทไว้มักเป็นจำนวนที่ตรวจหาเชื้อ (Detection Rate) จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ที่ตรวจไม่พบติด และจำนวนผู้เสียชีวิต ฯลฯ
- Data Dashboard : อีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศนิยมทำกันคือ Dashboard หรือการนำข้อมูลต่างๆ มาสรุปให้สามารถเห็นภาพได้ในหน้าจอเดียว พร้อม Interactive Function ให้เลือกกดดูบางชุดข้อมูลหรือดูในบางเงื่อนไข เพื่อประกอบการตัดสินใจออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ รวมไปถึงให้ประชาชนสามารถกดดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้หากต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐก็ไม่ได้ทำคนเดียวหรอก แต่มักร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคเอกชน หรือหน่วยงานวิชาการ มีทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ช่วยให้รัฐทำงานหรือขยับขับเคลื่อนการตัดสินใจต่างๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลตัวอย่างดีๆ มีให้ดูในหลายประเทศเช่น Ireland’s COVID-19 Data Hub หรือ COVID-19 in Canada ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่คนติดคนตาย ข้อมูลเตียงและ ICU ในโรงพยาบาลต่างๆ และข้อมูลวัคซีนในระดับละเอียดและชัดเจน ซึ่งมีทั้งระดับประเทศและระดับมณฑล (County) ด้วย
- Data Visualisation : สำหรับข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้นหรือต้องการสื่อสารให้เข้าใจง่ายมากขึ้น บางรัฐบาลก็เลือกออกแบบให้อยู่ในรูปแบบแผนที่หรือชาร์ตบางอย่าง ส่วนใหญ่ก็จะใช้กับข้อมูลในเชิงพื้นที่ ความหนาแน่น หรือสมรรถภาพต่างๆ (capacity) เพื่อให้เห็นปริมาณหรือการเข้าถึงที่ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แผนที่ของไต้หวันที่รัฐทำขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าสามารถซื้อหน้ากากได้ หรือเมือง Issy-les-Moulineaux ในฝรั่งเศสที่ทำแผนที่ขึ้นมาเพื่อช่วยธุรกิจท้องถิ่น ว่ามีร้านไหนบ้างที่มีบริการส่งถึงบ้าน
- Hybrid Data Product : เมื่อโลกอยู่กับ COVID-19 มาสักระยะ และดูท่าทางจะไม่ได้จบลงง่ายๆ รัฐบาลหลายประเทศจึงพัฒนาวิธีการใช้และนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างของเว็บไซต์ที่อาจจะดู “ล้ำๆ” แต่จริงๆ ก็คือมีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้รอบด้านมากขึ้น
- Website and Report : อีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศทำเพื่อใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐให้เป็นประโยชน์ คือการสร้างเว็บไซต์หรือรายงานเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จัดการความคาดหวัง รวมถึงสื่อสารกลยุทธ์ต่างๆ ที่รัฐตัดสินใจ ให้ประชาชนเข้าใจบนพื้นฐานของข้อมูล ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ What Will We Do in August? ของสโลวิเนีย
- Hackathon : นอกเหนือจากเครื่องมือรูปแบบต่างๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์ Open Government Data ยังสามารถใช้จัด Hackathon เพื่อหาทางออกหรือการใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ ได้ (รัฐคิดไม่ออกก็ให้ประชาชนช่วยคิดสิ!) เช่นในโคลัมเบีย ที่มีการจัด MOVID19 Hackathon เพื่อช่วยรัฐวิเคราะห์การแพร่เชื้อในระบบขนส่งมวลชนและหาทางออกในการจัดการปัญหาดังกล่าว
ตัวอย่างที่ไล่ลำดับมาตั้งแต่ 1-6 คือ การเปิดข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในสก็อตแลนด์ ที่แม้จะเริ่มจาก Spredsheet ง่ายๆ ในวันแรก แต่ปัจจุบันก็พัฒนามาจนเป็น Dashboard ที่ข้อมูลถูกเก็บและนำเสนออย่างละเอียดครบถ้วน มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ นำไปใช้ต่อได้ง่าย (Machine-readable Format) รวมถึงนำเสนอทั้งในระดับที่ละเอียดมากไปจนถึงสรุปมาให้อ่านง่าย
ชี้เป้าแหล่งข้อมูลของไทย
ทุกวันนี้ข้อมูลเปิดภาครัฐของไทยเรื่องโควิด-19 มีอยู่นะ ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่อยู่ในรูปแบบที่อาจไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้งานเท่าไหร่ แถมยังกระจัดกระจายอยู่หลายที่ และนี่คือตัวอย่างบางส่วนที่เราอยากชี้เป้าให้เห็น
- ข้อมูลสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โดยกรมควบคุมโรค
- รูปแบบ: Data Dashboard
- Pros: รวมรวมข้อมูลสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในหลายมิติ แยกเป็นหลายวิวมีข้อมูลเปรียบเทียบวิเคราะห์
- Cons: ไม่มีข้อมูลให้ดาวน์โหลด
- รายงานสถานการณ์โควิด-19 โดยกรมควบคุมโรค
- รูปแบบ: Data Repository และ Data Dashboard
- Pros: เปิดข้อมูล API สำหรับนักพัฒนา
- Cons: ไม่มีไฟล์ข้อมูลที่พร้อมใช้สำหรับคนทั่วไป เช่น CSV, XLS, XLSX
- รายงานความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน โดยกรมควบคุมโรค
- รูปแบบ: รูปแบบไทยๆ พร้อมแชร์ทางไลน์ ?
- Pros: อัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอทุกวัน
- Cons: เผยแพร่ข้อมูลเป็นไฟล์ภาพ เอาไปใช้งานต่อลำบากนอกจากแชร์ต่อๆ กัน
- ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 รายวัน และ ข้อมูลการตรวจโควิด-19 รายสัปดาห์ โดย data.go.th มี 2 ชุดข้อ
- รูปแบบ: Data Repository
- Pros: อัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอทุกวัน อยู่ในรูปแบบ Machine-Readable Format นำไปใช้ต่อได้งาน
- Cons: ข้อมูลการตรวจโควิดอัพเดทเป็นรายสัปดาห์
ชวนดูโปรเจกต์ของรัฐ (อื่น) และภาคประชาชนที่ชื่นชอบ
GOV.UK Coronavirus (COVID-19) in the UK
เว็บไซต์นี้ของสหราชอาณาจักรจัดเต็ม! แสดงข้อมูลแบบ Hybrid มีทั้ง Data Repository Data Dashboard และ Data Visualization มาครบ ตัวข้อมูลที่เปิดก็รวมข้อมูลสำคัญๆ ไว้จบที่เดียว ไม่ต้องให้ผู้ใช้ไปงมหาจากหลายที่ มีตั้งแต่ข้อมูลการติดเชื้อ การเข้ารักษาในโรงพยาบาล ไปจนถึงข้อมูลวัคซีน และยังลงรายละเอียดไปยังภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ที่น่าประทับใจก็คือความใส่ใจผู้ใช้งาน ด้วยการออกแบบส่วนสำหรับการดาวน์โหลดข้อมูลให้สามารถ customize ข้อมูลที่ต้องการได้ เช่น เลือกพื้นที่ เลือกหน่วยข้อมูลได้
Brazil’s Public Expenditure Tracker
ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ข้อมูลหนึ่งที่คนสนใจคือรัฐบาลใช้เงินของประเทศอย่างไรในการจัดการวิกฤตครั้งนี้ ดังนั้นรัฐบาลของบราซิล จึงทำเว็บไซต์นี้เพื่อเปิดข้อมูลการใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 ให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่ารัฐนำเงินไปช่วยเยียวยาแรงงานและธุรกิจต่างๆ อย่างไรบ้าง และจะบอกให้ว่า ไม่ใช่แค่ในช่วงโควิด-19 เท่านั้น แต่รัฐบราซิลใช้เว็บไซต์นี้ในการเปิดเผยงบทุกอย่างในประเทศเสมอและตลอดมา ?? (ก็หวังว่าประเทศเราจะมีอะไรแบบนี้บ้างอะนะ)
Corona Virus Media Watch
เป็น Civic Tech ที่เกิดจากการร่วมมือกันหลายๆ ภาคี ทั้งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และประชาชน รวบรวมข้อมูลหลายมิติจากทั่วโลกแบบ Real-Time มาอัพเดทเพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้รอบด้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวต่างๆ ที่ออกในแต่ละประเทศ งานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 จากประเทศต่างๆ รูปแบบการเคลื่อนที่/เดินทาง (Mobility) หรือลักษณะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของผู้คน (นี่ถ้าประเทศเราเปิดข้อมูล ก็คงได้อยู่ในแพลตฟอร์มนี้บ้างอะนะ)
Open Eats Japan
โปรเจคเล็กๆ โดยกลุ่ม Code for Japan ที่ทำขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลร้านอาหารท้องถิ่นต่างๆ ถูกบังคับให้ปิดการให้บริการหน้าร้านเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ยังให้บริการซื้อกลับบ้านหรือบริการส่งอาหารอยู่ โปรเจคนี้เป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลของร้านอาหารในภูมิภาคต่างๆ มาเผยแพร่เป็นข้อมูลเปิด และเชื่อมต่อไปให้แอพพลิเคชันต่างๆ ได้นำไปใช้ แม้จะเป็นโปรเจคเล็กๆ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ทำให้เห็นว่าในยามวิกฤติข้อมูลเปิดที่เป็นประโยชน์นั่นอยู่รอบตัว และอาจไม่ต้องรอรัฐเสมอไป