นิตยสาร Times ยกให้ปี 2020 เป็นปียอดแย่ ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์หายนะทำร้ายมนุษยชาติไม่หยุดหย่อน นับตั้งแต่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไฟป่า และภาวะโลกร้อนที่ทวีความเลวร้ายขึ้น ไปจนถึงเหตุการณ์การประท้วงที่นำไปสู่ความรุนแรงในหลายประเทศ
ยิ่งโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายและปัญหาซับซ้อนขึ้นเท่าไหร่ การใช้ข้อมูลและ Visualization ในงานข่าวจึงยิ่งมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางวิกฤติเราจึงได้เห็นงาน Data Visualization และ Storytelling ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย
เราอยากชวนคุณย้อนดูเหตุการณ์และประเด็นสำคัญ ทั้งเล็กใหญ่จากทั่วโลก ในช่วงปี 2019-2020 ผ่าน 12 งานข่าวที่น่าสนใจจากเวทีประกวด Online Journalism Awards 2020 กัน
หวังว่าปี 2021 จะมีงานดีๆ ให้ดูกัน โดยไม่ต้องแลกมาด้วยเรื่องเลวร้ายแบบปีนี้อีก
1. South China Morning Post (SCMP) – ฮ่องกง
? ชนะเลิศรางวัล 2020 General Excellence in Online Journalism ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
ปีนี้ SCMP ห้องข่าวจากฮ่องกง คว้ารางวัล General Excellence in Online Journalism ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของเวทีไป ด้วยการนำเสนอข่าวใหญ่ที่ที่สนใจของคนทั่วโลกต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการใช้แนวคิด digital-first ในการทำข่าว ที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และสื่อผสมผสาน ครอบคลุมช่องทางออนไลน์หลายรูปแบบ
ตลอดปี 2019-2020 SCMP นำเสนอข่าวเกาะติดการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ทีมข่าววิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาประเด็นเชิงลึกสำหรับคนอ่านเป็นซีรีส์ขนาดใหญ่ ตัวอย่างงานที่น่าสนใจคือ ‘100 days of protests rock Hong Kong’ ซึ่งบันทึกข้อมูลการชุมนุมประท้วงอย่างละเอียด ในรูปแบบไทม์ไลน์ ที่ใช้สื่อหลากหลายทั้ง data visualization วิดิโอ และภาพถ่าย นับเป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การประท้วงครั้งนี้ไว้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ SCMP ยังโดดเด่นในการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการเป็นสื่อเจ้าแรกๆ ที่รายงานข่าวนี้ตั้งจุดเริ่มต้นที่มณฑลหูหนาน ก่อนที่ไวรัสจะระบาดไปทั่วโลก SCMP นำประสบการณ์การทำข่าวโรค SARS เมื่อ 17 ปีก่อนมาใช้ ทำให้การรายงานข่าวโควิด-19 ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และที่น่าสนใจคือการใช้ interactive multimedia ในอัพเดทสถานการณ์ เช่น งาน Coronavirus: the disease Covid-19 explained ที่รายงานข้อมูลการติดเชื้อทั่วโลกล่าสุด มาตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.20 จนกลายเป็นศูนย์กลางที่ได้รับความสนใจมากที่สุดแหล่งหนึ่งในโลกออนไลน์
ดูเพิ่มเติมที่:
- Insights into Hong Kong protests https://series.scmp.com/hk-protests/
- Hong Kong protests, one year on https://series.scmp.com/hong-kong-protests-one-year-on/
- As it happened https://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/3021301/mong-kok-march-kicks-warnings-zero-tolerance-violence-pro
- Coronavirus: the disease Covid-19 explained https://multimedia.scmp.com/infographics/news/china/article/3047038/wuhan-virus/index.html
2. ‘Visualising the Hong Kong protests’ – Reuters, สหราชอาณาจักร
? ชนะรางวัล Excellence and Innovation in Visual Digital Storytelling ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
ในปี 2019 ทีมช่าว Reuters เกาะติดการประท้วงทางการเมืองในฮ่องกง และนำเสนอข่าวออกมาด้วยการผสมผสานเทคนิคการใช้ภาพถ่าย วิดิโอ และ data visualization เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวการประท้วงในฮ่องกงออกมาเป็นซีรีส์ข่าว ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
งานชิ้นเด่นที่สุดคือ ‘Massive Movement’ ซึ่งประเมิน ‘ขนาด’ ที่แท้จริงของกลุ่มผู้ประท้วง และนำเสนอออกมาในรูปแบบ immersive ทีมกราฟิกของ Reuters เดินทางไปยังฮ่องกงเพื่อเก็บข้อมูลการเดินขบวนประท้วงวันที่ 1 ก.ค.19 ซึ่งเป็นหนึ่งในวันที่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากที่สุด ทีมข่าวกระจายตัวตามจุดต่างๆ และบันทึกวิดิโอการเคลื่อนที่ของผู้ประท้วงนานหลายชั่วโมง เพื่อนำมาวิเคราะห์
งานชิ้นนี้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อตอบข้อถกเถียงเรื่องตัวเลขที่แท้จริงซึ่งมีมาตลอด จากความแตกต่างราวฟ้ากับดินของตัวเลขทางการของตำรวจและตัวเลขไม่เป็นทางการของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง ตัวเลขนี้มีความสำคัญในการสะท้อนความสำคัญของการประท้วงและการสนับสนุนจากประชาชน
งานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจจากซีรีส์ชุดนี้คือ “Coordinating Chaos” ที่แสดงให้เห็นวิธีการประสานงานและสื่อสารภายในกลุ่มผู้ชุมชน เพื่อป้องกันตัวและรับมือกับตำรวจ เช่น การใช้ภาษามือ การจัดแถวแนวรับ เป็นต้น งานชิ้นนี้นำเสนอด้วยกราฟิก ภาพถ่าย และวิดิโอ ผสมผสานกันให้เห็นภาพและเข้าใจง่าย
ดูเพิ่มเติมที่:
- Massive Movement – Story http://graphics.reuters.com/HONGKONG-EXTRADITION-CROWDSIZE/0100B05W0BE/index.html
- Massive Movement – Time Lapse https://graphics.reuters.com/HONGKONG-EXTRADITION-TIMELAPSE/0100B06J0DE/index.html
- Coordinating Chaos – Story https://graphics.reuters.com/HONGKONG-EXTRADITIONS-TACTICS/0100B0790FL/index.html
3. ‘See How the World’s Most Polluted Air Compares With Your City’s’ – The New York Times, สหรัฐอเมริกา
? ชนะรางวัล Excellence in Immersive Storytelling
งานชิ้นนี้ฉายภาพความอันตรายที่มองไม่เห็นของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งคร่าชีวิตคนท่ัวโลกหลายล้านคนต่อปี ให้เห็นประจักษ์ขึ้นด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่ ในรูปแบบ interactie visualization ผู้อ่านสามารถเลือกข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ กับ พื้นที่ที่สภาพอากาศแย่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น อินเดียตอนเหนือ หรือแคลิฟอร์เนียในฤดูไฟป่า เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของระดับความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น
ทีมข่าว New York Times ใช้ data visaulization ในรูปแบบ immersive จำลองฝุ่น PM 2.5 เป็นอนุภาคแบบ 3 มิติ ที่เคลื่อนไปมาได้บนหน้าเว็บไซต์ ให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้สัมผัสถึงมลพิษทางอากาศจริงๆ ตรงหน้า
ความท้าทายของงานชิ้นนี้คือ การหาวิธีจำลองภาพและการเคลื่อนไหวของฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างความรู้สึกเป็นธรรมชาติ โดยยังให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง แทนที่จะจำลองภาพแบบถูกต้องตรงเป๊ะตามหลักวิทยาศาสตร์แต่เข้าไม่ถึงคนอ่าน ทีมข่าวได้ทดลองทำ visualization หลากหลายรูปแบบ จนออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ในที่สุด
https://www.nytimes.com/interactive/2019/12/02/climate/air-pollution-compare-ar-ul.html
4. ‘COVID-19’ – The Washington Post, สหรัฐอเมริกา
? ชนะรางวัล Explanatory Reporting ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
ตั้งแต่เริ่มต้นไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นระบาด The Washington Post ระดมนักข่าวหลายร้อยคนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เพื่อทำข่าวเกาะติดรายงานสถานการณ์ในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่สาเหตุการระบาดที่รวดเร็ว การรับมือของภาครัฐ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและระบบสาธาณะสุข พวกเขารายงานข่าวโดยใช้สื่อหลายรูปแบบ เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกนี้ได้ดียิ่งขึ้น
หนึ่งในงานที่โดดเด่นที่สุด คือ Why outbreaks like coronavirus spread exponentially, and how to “flatten the curve” โดย Harry Stevens ที่ออกมาในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ในขณะที่ไวรัสยังแพร่ระบาดไม่มากในสหรัฐอเมริกา เขาใช้กราฟิกลูกบอลเล็กๆ กระเด้งไปมาบนหน้าจอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมไวรัส โควิด-19 จึงแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และทำอย่างไรจึงจะสามารถจำนวนลดการติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า ‘flatten the curve’ ได้
งานข่าวชิ้นนี้ดังเป็นพลุแตก ทุบสถิติจำนวนการเข้าถึงผู้อ่าน จนได้ขึ้นแท่นกลายเป็นบทความที่เข้าถึงผู้อ่านมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ The Post บทความนี้ถูกแปลเป็น 17 ภาษา และถูกนำไปเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ในหลายประเทศ นอกจากนี้ยังถูกแชร์โดย บารัค โอบามา และ ผู้ทรงอิทธิพลทั่วโลกมากมาย
ทีมข่าวให้ความเห็นว่า ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของบทความชิ้นนี้ คือการช่วยเป็นสื่อกลางการพูดคุยเรื่องความสำคัญของ social distancing ในสังคมได้เป็นอย่างดี
ดูเพิ่มเติมที่:
- Why outbreaks like coronavirus spread exponentially, and how to “flatten the curve” https://www.washingtonpost.com/graphics/2020/world/corona-simulator/
- Health Disease modelers are wary of reopening the country. Here’s how they arrive at their verdict. https://www.washingtonpost.com/graphics/2020/health/disease-modeling-coronavirus-cases-reopening/
- Coronavirus Oral History https://www.washingtonpost.com/graphics/2020/national/coronavirus-oral-history/
5. ‘Seeing Red’ – The Boston Globe, สหรัฐอเมริกา
? ชนะรางวัล Explanatory Reporting ประเภทห้องข่าวขนาดกลาง
ก่อนการระบาดของโควิด-19 ชาวบอสตัน สหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับปัญหารถติดแสนสาหัส เพราะทุกวันมีประชากรกว่า 2 ล้านคน เดินทางด้วยรถยนต์ไปกลับบ้านที่ทำงาน ด้วยการใช้รถที่มากขนาดนี้ ปัญหารถติดในบอสตันจึงไม่ธรรมดา แต่เป็นปรากฎการณ์ที่ซับซ้อนและเรื้อรัง กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านทั้งเศรษฐกิจ ร่างกาย และจิตใจ
The Boston Globe นำเสนอซีรีส์ข่าวชุด ‘Seeing Red’ เพื่อเจาะลึกปรากฎการณ์รถติดในบอสตัน แบบ multimedia ที่ประกอบด้วย data visualization บทความ วิดิโอสารคดี ช่องทางการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ทั้งออนไลน์และอีเว้นท์ออฟไลน์
ซีรีส์ข่าวชุดนี้นำเสนอข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บอสตันมีรถยนต์และรถบรรทุกเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคัน เกินกว่าพื้นที่บนท้องถนนจะรับได้ และเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมคนจำนวนมากยังเจอกับรถติดทั้งที่ไม่มีอุบัติเหตุบนถนน ด้วยการอธิบายกายวิภาคของรถติด (anatomy of traffic jam) จากภาพถ่ายโดรนและภาพกราฟิก
ทีมข่าวยังเจาะลึกด้วยข้อมูลการวิเคราะห์ ให้เห็นว่านโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้คนขับรถ และพฤติกรรมของชาวบอสตันเอง เช่น การสั่งของจากอเมซอน หรือการขับรถคนเดียว ส่งผลให้ปัญหาเลวร้ายลงอย่างไร
https://apps.bostonglobe.com/metro/investigations/spotlight/2019/11/19/seeing-red/
6. ‘These 3 supertrees can protect us from climate collapse. But can we protect them?’
? ชนะรางวัล 2020 Topical Reporting, Climate Change
Eliza Barclay นักข่าวและบรรณาธิการข่าวของ Vox ริเริ่มโปรเจคนี้จากความค้างคาใจ ภายหลังร่วมประชุม Tropical Forest Forum ในปี 2018 ที่ออสโล เธอเห็นว่าคนทั่วไปนอกวงการสิ่งแวดล้อม มักไม่เห็นความสำคัญของป่าเขตร้อนในฐานะเครื่องมือช่วยลดปัญหาโลกร้อนเท่าไหร่นัก และกลับบูชาการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า
เธอจึงตั้งใจใช้โปรเจคนี้อธิบายความสำคัญของป่าเขตร้อน ผ่านต้นไม้ 3 สายพันธุ์ จาก 3 มุมโลก ที่มีพลังพิเศษในการช่วยมนุษย์รับมือกับปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ต้นไม้เหล่านั้น ได้แก่ บราซิลนัต (Brazil Nut Tree) ผู้สร้างฝน แห่งบราซิล โกงกาง (Mangrove) ผู้เก็บกับคาร์บอน แห่งอินโดนีเซีย และต้นสักแอฟริกัน (Afrormosia) ผู้รักษาสมดุลของป่า แห่งคองโก
ทีมงานใช้เวลาหลายเดือนลงพื้นที่ในแต่ละประเทศ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และทำความเข้าใจความซับซ้อนเชิงนิเวศวิทยาและความสำคัญทางเศรษฐกิจของต้นไม้เหล่านี้ พวกเขาทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายผลที่อาจเกิดขึ้นหากระบบนิเวศน์ของป่าต้นไม้เหล่านี้พังทลายลง จากนั้นจึงนำมาถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายจากพื้นที่และกราฟิกที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น
https://www.vox.com/a/supertrees
7. ‘Vote Coder’ โดย BBC News, สหราชอาณาจักร
เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Award for Technical Innovation in the Service of Digital Journalism
Vote Coder เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ติดตามและวิเคราะห์ผลการลงคะแนนในรัฐสภาของสหราชอาณาจักร โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยสำนักข่าว BBC ให้สามารถแสดงผลการโหวตแบบ interactive ภายในไม่กี่นาทีหลังการลงคะแนน และยังมี visualization สรุปผลให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย
ความท้าทายที่สุดในการพัฒนา Vote Coder คือการหาข้อมูล ทีมข่าว BBC News ใช้วิธีเขียนโค้ดเพื่อดึงข้อมูลจากแอปพลิเคชันของรัฐสภา โดยจะอัพเดทข้อมูลทุกๆ 10 วินาที และมีระบบส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังนักข่าวได้ทันที
นับตั้งแต่ปี 2018 Vote Coder แสดงผลการลงคะแนนกว่า 23 ครั้ง และมีการเข้าชมสูงถึง 19 ล้านครั้ง Vote Coder ถูกนำมาใช้อย่างมากในการรายงานผลการลงประชามติ Brexit เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน และนำมาใช้ในการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ เช่น ระหว่างการสัมภาษณ์ส.ส.แบบสดๆ นักข่าวสามารถใช้ Vote Coder ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ได้ทันที
Vote Coder ยังเป็นเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากรัฐสภา ในปี 2020 Vote Coder พบความผิดพลาดในการนับคะแนนในกรณีต่างๆ เช่น การนับคำแนนซ้ำ เป็นต้น คิดเป็นกว่า 10% ของผลโหวตทั้งหมด BBC ได้นำเสนอความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้แก่สาธารณะเพื่อให้การรายงานผลน่าเชื่อที่มากที่สุด
- https://www.bbc.com/news/uk-politics-50145265
- https://drive.google.com/file/d/17tc_J-9Ct5RznJJgMzHTPsAGMaV0ruiS/view
8. ‘How Trump Reshaped the Presidency’ – The New York Times, สหรัฐอเมริกา
เข้ารอบสุดท้ายรางวัล 2020 The University of Florida Award for Investigative Data Journalism ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
โดนัล ทรัมป์ ขึ้นชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีแห่งการทวีต นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 เขาใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือกำหนดประเด็นในสื่อ และเป็นอาวุธในเกมการเมืองมาโดยตลอด
The New York Times จึงทำซีรีส์ข่าวชุด ‘The Twitter Presidency’ ขึ้นเพื่อวิเคราะห์บทบาทการใช้ทวิตเตอร์ของทรัมป์ ในแง่มุมต่างๆ เช่น การใช้ทวิตเตอร์ในการทำหน้าที่ประธานาธิบดี ทฤษฎีสมคบคิดในอินเทอร์เน็ต และภาพสะท้อนรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านมุมมองจากทวิตเตอร์ของทรัมป์
ทีมข่าวนำข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กว่า 11,000 ทวีต รวมทั้งแอ็กเคานต์ทั้งหมดทั้งที่ติดตามทรัมป์ และที่ทรัมป์เป็นผู้ติดตาม มาวิเคราะห์จัดกลุ่ม และทำเป็น data visualization ง่ายๆ ให้ผู้อ่านติดตาม พร้อมกรณีตัวอย่างประกอบ
ทวิตเตอร์กว่าหนึ่งหมื่นข้อความนี้ถูกจัดออกเป็น 52 ประเภท เปิดเผยให้เห็นวิธีการใช้ทวิตเตอร์ของทรัมป์ในทางการเมืองอย่างน่าสนใจ เช่น ข้อความทวิตเตอร์ประเภทที่มีจำนวนมากที่สุดคือข้อความโจมตีบุคคลหรือสิ่งอื่นๆ ซึ่งมีกว่า 5,889 ข้อความ ในขณะที่ 4,876 ข้อความเป็นการชื่นชมบุคคลหรือสิ่งอื่นๆ โดยในบรรดานั้นเขาชื่นชมตัวเองไปกว่า 2,026 ข้อความ เป็นต้น
https://www.nytimes.com/interactive/2019/11/02/us/politics/trump-twitter-presidency.html
9. ‘Copy, Paste, Legislate’ – USA Today, สหรัฐอเมริกา
เข้ารอบสุดท้ายรางวัล 2020 The Al Neuharth Innovation in Investigative Journalism Award ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
USA Today ร่วมกับ The Arizona Republic และ The Center for Public Integrity เปิดเผยข้อมูลการออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘Model Legislation’ หรือกฎหมายที่ถูกร่างโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ ล็อบบี้ยิสต์ กลุ่มสหภาพ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม แล้วนำมาตัดแปะ (copy-paste) ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้จริงโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
ทีมข่าวนำร่างกฎหมายจำนวนมากในกระบวนการออกกฎหมายของสหรัฐอเมริกา มาวิเคราะห์ข้อความด้วยคอมพิวเตอร์ จนพบว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีการเสนอกฎหมายประเภท Model Legislation จำนวนกว่า 1 หมื่นฉบับ จากทุกขั้วการเมือง หลายฉบับเป็นการตัดแปะเนื้อความแบบตรงๆ ในขณะที่ยังมีร่างกฎหมายจำนวนหนึ่งที่อาจเข้าข่ายกฎหมายประเภทนี้ ใช้วิธีการที่แนบเนียนกว่าในการปรับแต่งเนื้อหา
รายงานข่าวชุดนี้ พยายามตั้งคำถามและชี้ให้เห็นผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ จากการออกกฎหมายแบบ Model Legislation นี้ โดยการยกกรณีตัวอย่างต่างๆ เช่น กรณีการออกกฎหมายที่ตัดแปะมาจากร่างของกลุ่มธุรกิจเอกชน ที่ทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับบาดเจ็บฟ้องร้องบริษัทเอกชนได้ยากขึ้น กรณีการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิการประท้วงของประชาชน และการออกกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นผ่อนปรนความเข้มงวดในการควบคุมการใช้ปืน เป็นต้น
- https://www.usatoday.com/pages/interactives/asbestos-sharia-law-model-bills-lobbyists-special-interests-influence-state-laws/
- https://www.usatoday.com/videos/news/investigations/2019/02/06/buying-our-statehouses-how-copy-cat-bills-become-your-laws/2791495002/
10. 50th Anniversary: “Apollo 11: America’s Journey To The Moon” โดย USA Today, สหรัฐอเมริกา
เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Excellence in Immersive Storytelling
USA Today จับมือกับ Florida Today ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ augmented reality (AR) เกี่ยวกับอวกาศ ทำโปรเจคข่าวพิเศษเพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของโครงการอพอลโล 11 ในงานชิ้นนี้มีทั้ง วิดิโอไลฟ์อีเว้นท์ถ่ายทอดวินาทีประวัติศาสตร์ในวันปล่อยยานอพอลโล 11 แบบสดๆ สกู๊ปข่าวและพ็อตแคสเกี่ยวกับบุคคลสำคัญเบื้องหลังภารกิจ และคลังภาพประวัติศาสตร์
แต่ที่พิเศษสุดคือการทำ AR boardcast แบบไลฟ์ ให้ผู้อ่านได้สัมผัสประสบการณ์การนับถอนหลังการปล่อยยานอพอลลโล 11 หรือที่เรียกว่า ‘321 Launch’ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และยังมี AR ครอบคลุม 6 เหตุการณ์สำคัญตั้งแต่การปล่อยยานไปจนถึงการลงจอดบนดวงจันทร์อีกด้วย
คุณเองก็สามารถลองสัมผัสประสบการณ์นี้ได้ แค่ดาว์นโหลดแอพพลิเคชัน USA Today ที่ลิงค์นี้ https://www.321launchapp.com/
ดูเพิ่มเติมที่:https://www.usatoday.com/moonlanding/
11. The Designs Vary. The Technology is New. The Ambition is the Same – The New York Times, สหรัฐอเมริกา
เข้ารอบสุดท้ายรางวัล 2020 Excellence and Innovation in Visual Digital Storytelling ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
ปีที่ผ่านมา New York Times ผลิตผลงานประเภท visual journalism ด้วยการใช้นวัตกรรมและทีมที่มีความสามารถหลากหลาย ผสมผสานสร้างงานข่าวรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากกมาย ด้วยความมุ่งมั่นเดิมที่จะพัฒนาข่าวให้มีคุณภาพโดยมีผู้อ่านเป็นศูนย์กลาง มาดูกันว่ามีงานอะไรที่น่าสนใจบ้าง
งานข่าวที่ใช้นวัตกรรมเชิงเทคนิค งานชิ้นนี้เล่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านแผนที่ที่เรียงร้อยต่อกันจากประเทศจีนสู่ทั่วโลก ทีมงานให้ความเห็นว่าการแสดงผลที่สามารถเปลี่ยนผ่านภาพบนแผนที่ได้เช่นนี้ ทำโดยใช้เทคนิคการสร้างภาพซีนแบบ 3 มิติ ซึ่งเทคนิคนี้ไม่สามารถทำได้เมื่อ 5 ปีก่อน
งานข่าวที่ใช้นวัตกรรมประยุกต์ งานชิ้นนี้สร้าง AR การเว้นระยะหว่างทางสังคมแบบปลอดภัยในรัศมี 6 ฟุต เพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19 งานชิ้นนี้ทำให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพระยะปลอดภัยในพื้นที่จริงในทุกๆ ที่ที่ต้องการ
งานข่าวที่ใช้นวัตกรรมวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เชิงประยุกต์ งานชิ้นนี้สร้างภาพจำลองน้ำท่วมในพื้นที่แถบตะวันตกตอนกลางและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ด้วยการใช้ภาพจากดาวเทียมจำนวนมาก ขนาดไฟล์เกือบ 2 เทราไบต์ ทีมงานต้องใช้คลาว์ดเชื่อมต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ 16 เครื่อง ในการสร้างภาพจำลองพื้นที่น้ำท่วมเพียงภาพเดียวนี้ออกมา
12. Companies in the Cosmos: How to dress for space – The Washington Post, สหรัฐอเมริกา
เข้ารอบสุดท้ายรางวัล 2020 Excellence and Innovation in Visual Digital Storytelling ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่
The Washington Post เล่าพัฒนาการของเทคโนโลยีทางอวกาศของสหรัฐอเมริกา ผ่านชุดนักบินอวกาศ 5 ชุด ตั้งแต่ชุด Mercury Silver ที่ใช้เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก ชุดอวกาศสีส้มในยุค 90 ไปจะถึงชุดอวกาศสุดล้ำของ Boeing และ Space X
งานชิ้นนี้สร้างภาพชุดอวกาศแบบ 3 มิติขึ้นมา และยังสร้างภาพ AR ขนาดเท่าชุดจริง ให้ผู้อ่านได้สำรวจอย่างละเอียดด้วยตัวเอง การสร้างภาพ 3 มิติเหล่านี้ต้องใช้ภาพถ่ายชุดอวกาศจริงจำนวนถึง 2,500 ภาพ นำมารวมกันด้วยกระบวนการ photogrammetry ซึ่งใช้อัลกอริทึมในการวิเคราะห์หาจุดที่เหมือนกันในแต่ละภาพ แล้วสร้างเป็นโมเดล 3 มิติขึ้นมา
เมื่อเลื่อนงานดูเพื่อสำรวจชุดนักบินอวกาศแต่ละชุด คุณจะได้อ่านคำบรรยายและบทวิเคราะห์จาก Cris Davenport นักข่าวด้านอวกาศ และ Robin Givhan นักวิจารณ์แฟชันเจ้าของรางวัล Pulitzer คอยอธิบายรายละเอียดเชิงเทคนิค ประเด็นเชิงวัฒนธรรมในการออกแบบ ไปจนถึงความสำคัญของการสำรวจอวกาศต่อคนอเมริกันในแต่ละยุคสมัย
งานชิ้นนี้นับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นการก้าวเข้าสู่ยุคการสำรวจอวกาศยุคใหม่ ที่บริษัทเอกชนผู้นำนวัตกรรมก้าวขึ้นมาบทบาทสำคัญ ไม่จำกัดแค่องค์กรรัฐอย่าง NASA อีกต่อไป