Skip to content
Article

เรียนเลขผ่านการทอผ้า กับ Beweave !t

งานฝีมือ และ คณิตศาสตร์ ดูเหมือนจะเป็นวิชาที่นึกไม่ออกว่าจะเรียนไปพร้อมกันได้อย่างไรในชั้นเรียน

แต่ 2 ศาสตร์นี้ได้ถูกสานรวมกันอย่างแนบเนียนด้วยกี่ทอผ้า ในโปรเจกต์ Beweave !t’ งานธีสิสของ ‘น้อยหน่า – สโรชา เตียนศรี’ นักศึกษาภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ซึ่งรวมเอาความชอบส่วนตัวทั้ง 2 อย่าง คืองานคราฟต์และการสอนหนังสือเด็กเข้าไว้ด้วยกัน 

นอกจากเป็นการออกแบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการผสมสองวิชาเข้าด้วยกันแล้ว ยังอาจมองได้ว่าเครื่องมือการเรียนรู้แบบ Beweave !t เป็น ‘สื่อ’ หรือรูปแบบในการสื่อสารใหม่ๆ ที่ใช้ในการเล่าเรื่องราวและข้อมูลได้ ผ่านวัสดุอย่างผ้าทอ ที่จริงๆ แล้วเราต่างก็คุ้นเคย แต่ไม่เคยคุ้นกับการหยิบนำมาใช้ในมิตินี้เท่านั้นเอง

 

Q : อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของ Beweave !t ทำไมต้องกี่ทอผ้า? ทำไมต้องคณิตศาสตร์?

A : จุดเริ่มต้นมาจากการไปอยู่กับชาวบ้านปกาเกอะญอช่วงฝึกงาน แล้วเห็นลูกเจ้าของบ้าน อายุ 7 ขวบ สามารถทอผ้าด้วยกี่เอวต่อจากแม่ได้ เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นของเล่นอย่างหนึ่งของเขา จึงฉุกคิดขึ้นมาว่า ทั้งๆ ที่ตนเองก็ชอบงานคราฟท์ แต่ทำไมทอผ้าไม่เป็น ไม่สามารถเข้าถึงกี่ทอผ้าได้ตั้งแต่เด็ก อาจเพราะไม่รู้ว่าการทอผ้านั้นง่ายกว่าที่คิด เด็กๆ ก็สามารถทำได้ เลยจุดประกายให้อยากทำกี่ทอผ้าที่เด็กสามารถสนุกกับการทอ 

ขณะเดียวกัน การได้ไปคุยกับ Rada Loom ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายกี่ทอผ้า และทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้พบว่า เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กบางคนในการขอพ่อแม่มาเรียนทอผ้า เพราะมองว่าอยากให้เอาเวลาไปเรียนพิเศษวิชาการมากกว่า เลยคิดทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา เพื่อให้ทั้งน้องๆ ได้เล่นสนุกพร้อมเรียนรู้คณิตศาสตร์ผ่านการทอผ้า และยังช่วยให้พ่อแม่สบายใจด้วยว่า การเรียนทอผ้านั้นเป็นความบันเทิงที่ไม่เสียเปล่า

 

Q : ช่วยเล่ากระบวนการเรียนรู้ของ Beweave !t ให้ฟังหน่อย

A : กระบวนการสอนจะเริ่มตั้งแต่ให้โจทย์คณิตศาสตร์ เช่น ณ ร้านขายดอกไม้แห่งหนึ่ง มีดอกไม้นานาพรรณ จำนวนทั้งสิ้น 1,500 ดอก มีกุหลาบ 900 คาเนชั่น 450 ดอกลิลลี่ 150 แล้วสอนการคิดเปอร์เซนต์ โดยความยากของโจทย์มี 3 ระดับ แต่ละระดับจะให้ทำให้เกิดลายผ้าที่ซับซ้อนมากขึ้น เราจะให้น้องขึ้นสานกระดาษก่อน ทำให้เด็กได้เห็นก่อนว่าสามารถออกแบบลายได้ยังไงบ้าง สามารถวางแผนได้รื้อได้ก่อนสานจริง จากนั้นค่อยให้น้องเลือกสีด้ายแทนผลลัพธ์แต่ละประเภท ในจำนวนเส้นเป็นสัดส่วนเดียวกับเปอร์เซนต์ที่คิดไว้ และนำมาออกแบบ หาความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับการเป็นลายผ้า ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ใช่แค่หน้าตาที่แตกต่าง แต่ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังให้ไปเล่าต่อได้ 

 

Q : คิดว่า  Beweave !t เหมาะกับเด็กกลุ่มไหน

A : เริ่มแรก กลุ่มเป้าหมายหลักคือของงานนี้คือ เด็กระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนทางเลือกและโฮมสกูล หรือกลุ่มที่เราอาจจะมองได้ว่าเป็น Active Learner เพราะโดยทั่วไปเด็กโรงเรียนเหล่านี้จะเรียนแบบ Project-Based คือจะต้องทำโปรเจกต์เกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างน้อยภาคเรียนละหนึ่งงาน และนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการของโรงเรียนตอนปลายภาค เรามองว่าสิ่งนี้คือสื่อหนึ่งที่เด็กสามารถนำไปใช้ในการเล่าเรื่องของเขาได้ เปรียบเทียบได้ ทำให้ได้ไตร่ตรองกับสิ่งที่ทำมากขึ้น 

ในความเป็นจริง อาจจะมีมุมที่ผู้ปกครองไม่ได้อยากให้ลูกเรียนทอผ้า เพราะมองว่าเอาเวลาไปติววิชาการน่าจะเป็นประโยชน์กว่า เด็กในระบบโดยส่วนใหญ่เลยต้องติวต้องแข่งขันตลอด ทำให้เขาแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นที่สนใจเลย การที่ทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าตัวเลขหรือโจทย์มันสามารถออกมาเป็นผ้าทอได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่เซอร์ไพรส์ได้มากเหมือนกัน

 

Q : นอกจากคิดเลขได้ ทอผ้าเป็น สิ่งคาดหวังว่าเด็กๆ จะได้เรียนรู้จาก Beweave !t คืออะไร?

A : เราคิดว่าวิธีแบบนี้เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ทุกคนควรจะทำความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความเชื่อมโยงกัน กี่ทอผ้าของเราถูกออกแบบมาให้ถอดประกอบได้ เริ่มตั้งแต่การที่มันเป็นชิ้นส่วนแยกให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะประกอบเอง ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นอะไร มันทำให้ผู้เรียนได้รู้ครบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การประกอบสร้างกี่ ออกแบบลายจากโจทย์คณิตศาสตร์  ไปจนถึงการทอออกมาเป็นชิ้นงานจริง โดยแต่ละขั้นตอนเค้าก็สามารถเอาความเป็นตัวเองใส่เข้าไปในกี่ได้ อย่างวิธีการที่เขาประกอบมันยังมีช่องว่างที่เค้าคิดได้ว่าทำไมมันถึงต้องออกมาเป็นแบบนี้ หรือทำไมต้องทำขั้นตอนนี้ก่อนขั้นตอนนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ใช้เวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น

 

Q : มองขั้นต่อไปของ Beweave !t ไว้ว่าอย่างไรบ้าง?

A : เราคิดว่าโปรเจ็กต์นี้ยังต้องพัฒนาโปรดักต์อีกเยอะมาก มีพ่อแม่หลายๆ คนที่ให้ความสนใจและอยากนำไปเผยแพร่ในเครือข่ายตัวเองเยอะอยู่เหมือนกัน ถ้ามองว่าตอนนี้จะทำเป็นธุรกิจได้ไหม เรามองว่าเป็นเรื่องของอนาคต เพราะเราคิดว่ามันยังสามารถต่อยอดได้อีก แต่ตอนนี้คงต้องเก็บประสบการณ์เพิ่มไปก่อน

โมเดลการเรียนรู้นี้ยังสามารถต่อยอดไปใช้กับวิชาอื่นได้ด้วย เช่น สุขศึกษา อาจนำสัดส่วนมวลไขมันและน้ำหรือสารอื่นๆ ในร่างกายมาแสดงผ่านลายผ้า กลายเป็นของใช้ในบ้านที่บันทึกเรื่องราวส่วนตัวของเราอยู่ในนั้น 

พอทำออกมาเป็นผ้าทอแล้วมันสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ เขาก็สามารถนำผ้าชิ้นนี้ไปเล่าเรื่องราวให้กับคนอื่นฟังได้ มันคือเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขาจริงๆ แล้วมันก็เชื่อมโยงกับเขาโดยตรง
<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio