Skip to content
Article/Infographic

LGBTQ+ ในโลกออนไลน์ กับภาษาสุดไม่ Friendly (ที่คุณเผลอใช้โดยไม่รู้ตัว?)

Note : บทความนี้ใช้ข้อมูลจาก ZocialEye by Wisesight เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 22 มี.ค. – 27 มิ.ย. 65 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://wisesight.com/zocialeye

ในยุคปัจจุบันที่การขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศกำลังเฟื่องฟู ความตระหนักรู้ถึงอิทธิพลของภาษาก็ได้งอกงามขนานตามไปด้วย ในแวดวงสังคมออนไลน์แนวโน้มการใช้คำศัพท์ที่มีนัยยะส่อไปในทางล้อเลียนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ได้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่สื่อ หรือ คนดังซึ่งยังคุ้นชินกับการใช้ภาษาเรียกกลุ่ม LGBTQ+ แบบเก่า ๆ ก็อาจจะถูกผู้ชมยิ้มแห้งใส่และหนีหายไปได้ หากยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

สังคมยุคใหม่…ปลอดภัยจากคำเหยียดเพศ?

แม้ Concept เรื่องการสร้างสังคมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย จะมาไกลมากเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน แต่คงไม่มีใครมั่นกล้าการันตีได้ว่า ทุกซอกหลืบของสังคมยุคนี้จะไม่มีการเหยียดเพศอยู่เลย โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง จริงอยู่ที่คำศัพท์ซึ่งสะท้อนความกดทับอย่างชัดเจน เช่น วิปริต ผิดเพศ สายเหลือง ฝืนธรรมชาติ จะค่อย ๆ หายไป (หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ในรัฐสภาแทน) แต่ก็ยังมีคำศัพท์อีกชุดหนึ่ง ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีความหมายเหยียดตรงตัว แต่ก็สื่อถึงความไม่เท่าเทียมและหลักคิดที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับ LGBTQ+

….โดยความที่ดูเหมือนจะไร้พิษภัยนี้แหละ ทำให้หลายคนใช้มันโดยไม่ทันระวังตัว

ดร. ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการด้านเพศภาวะ เพศวิถี และอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำศัพท์จำพวกนี้ ว่าสามารถแยกคร่าว ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ คำที่ประกอบสร้างความหมายผิด ๆ หรือ กำกวม เกี่ยวกับตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น รักร่วมเพศ ฯลฯ ซึ่งดันไปพ้องเสียงกับคำว่า ร่วมเพศ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้คำนี้มีส่วนสร้างภาพจำเชิงลบผิด ๆ ที่ว่า LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบและหมกหมุ่นอยู่แต่กับการมีเพศสัมพันธ์

กลุ่มที่สอง คือ คำที่มีนัยยะสะท้อนถึงชนชั้นทางเพศ ความไม่ใช่กระแสหรือทางเลือกหลักในสังคม ของ LGBTQ+ เช่น เพศที่สาม สาวประเภทสอง หรือ เพศทางเลือก ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความหมายที่พยายามจัดลำดับขั้นของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้กลายเป็นกลุ่มชายขอบ และไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับเพศชาย-หญิง

คำพวกนี้…ยังมีใช้อยู่ในโลกออนไลน์ จริงอ่ะ?

เป็นคำถามที่น่าสนใจ…

เพื่อเฟ้นหาคำตอบ Punch Up ได้ทำการขุดค้ย ชุดข้อมูลจำนวนการใช้คำศัพท์กลุ่มดังกล่าว (รักร่วมเพศ เพศที่สาม เพศทางเลือก สาวประเภทสอง) ที่โผล่อยู่ตาม Platform สังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, Pantip และอื่น ๆ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 27 มิถุนายน 65 ก่อนค้นพบว่า แม้จะไม่ใช่ช่วง Pride Month ที่มักจะมีบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากเป็นพิเศษ คำเหล่านี้ก็ถูกใช้อยู่แล้วเป็นนิจในช่วงเวลาปกติ

จะเห็นได้ว่าการเรียก LGBTQ+ ด้วยคำศัพท์กลุ่มนี้ ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้วแทบจะทุกลมหายใจและทุก Platform สูงที่สุดผ่านทาง Facebook และ Twitter YouTube รองลงมา

โดยหากเราเจาะลึกเพิ่มขึ้น แยกตามประเภทของคำศัพท์ จะเห็นได้กว่า “สาวสอง” เป็นคำที่ติดปากคนโซเชียล มากที่สุดอยู่ที่ 58.66% หรือพบในกว่า 15,000 ข้อความ ตามมาด้วยคำว่า เพศทางเลือก ซึ่งถูกพบในกว่า 2,800 ข้อความ

ถึงจะเป็นอย่างงั้น…แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ในบริบทที่แย่

หากเราวิเคราะห์ลึกลงไปที่ Sentiment หรืออารมณ์เบื้องหลังข้อความต่าง ๆ ที่มีคำศัพท์เหล่านี้ปรากฏอยู่ เราจะพบว่า 23.01% ของข้อความเหล่านี้ เขียนด้วยอินเนอร์เชิงบวก ขณะที่ข้อความซึ่งให้ความรู้สึกเชิงลบมีเพียง 19.76% เท่านั้น และส่วนใหญ่ 57.23% เป็นข้อความที่ให้ความรู้สึกกลาง ๆ (Neutral) หรือ เคาะไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นอินเนอร์นางเอกหรือนางร้าย

ลองไปสำรวจ Post เด่น ยอดดูปัง ๆ กันดีกว่า

Engagement 91,962 https://web.facebook.com/watch/?v=289194176714070

Engagement 45,729 https://twitter.com/BKKRickLee/status/1536554026191314944

Engagement 3,004 https://web.facebook.com/JustDooItTH/photos/a.210264755971327/1807819506215836

Engagement 18,260 https://web.facebook.com/VoiceOnlineTH/videos/1380193809132759/

จะเห็นได้ว่าการใช้คำศัพท์ทั้ง เพศทางเลือก เพศที่สาม รักร่วมเพศ หรือ สาวประเภทสอง ไม่ได้อยู่ในบริบทเชิงลบ หรือเขียนด้วยเจตนาเหยียดหยามแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการหยิบมาใช้เพื่อบรรยายเรื่องราว หรือ สถานการณ์ตามปกติเท่านั้น

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ความละเอียดละออต่อ Sense ในการใช้ภาษาของโลกออนไลน์ในไทยนั้น อาจยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเคี่ยวกรำอีกมาก เพราะแม้ว่าอินเนอร์ของการสื่อสารจะไม่ได้เป็นไปในเชิงลบ แต่การเลือกใช้ Word Choice บางอย่าง ก็อาจไม่ได้ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรนัก กับผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน

วงเม้าประเภทไหน…ใช้คำเหล่านี้มากที่สุด?

อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ (อย่างน้อยก็สำหรับเรา) คือกลุ่มคำเหล่านี้ไปปรากฏอยู่ใน Social Media ของ Account ประเภทไหนบ้าง จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในบรรดา Account ทั้งหมดที่มีการเอ่ยถึงคำศัพท์เหล่านี้ ยืนหนึ่งที่สุด (30.5%) คือบัญชีในกลุ่มสื่อและรายการบันเทิง รองลงมาอันดับ 2 (4.9%) คือกลุ่มข่าวที่รายงานประเด็นทางสังคม และอันดับที่ 3 (4.4%) เป็น Account ที่เกี่ยวกับการการซื้อขายหรือห้างร้านต่าง ๆ

….ข้อมูลตรงนี้บอกอะไรเรา?

สิ่งนี้อาจช่วยไขข้อสงสัยที่ว่า ทำไมคำอย่าง รักร่วมเพศ ที่มีนัยยะเชิงลบชัดเจนต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงเป็นศัพท์ที่ถูกเลือกใช้อย่างดาษดื่นทั่วไปในสังคม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาคส่วนที่มีอิทธิพลต่อความคิด ทัศนคติ และการเลือกใช้คำพูดของผู้คนจำนวนมาก อย่าง สื่อ รายการบันเทิง หรือรายการข่าว ก็ยังหยิบคำเหล่านี้มาใช้ประดุจคำปกติ

การที่สื่อยังไม่สามารถตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของภาษา ที่มีส่วนลดทอนคุณค่า LGBTQ+ ได้ แถมยังพลั้งมือผลิตซ้ำคำเหล่านี้ออกสู่สายตาสาธารณชน ก็ยิ่งเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนเห็นว่า คำศัพท์เหล่านี้โอเคพอที่จะใช้เรียกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น การจะขยับปรับเปลี่ยนให้สังคมตระหนึกถึงด้านที่ไม่น่าอภิรมย์นักของคำศัพท์เหล่านี้ สื่อน่าจะเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจประเด็นนี้ก่อนใครเพื่อน

โดยในปัจจุบัน นักวิชาการด้านเพศสภาพ และกลุ่ม LGBTQ+ เอง ก็ได้ออกมาสื่อสารกับสังคมมากขึ้น ถึงชุดคำศัพท์ที่มีความหมายเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็น “LGBTQ” “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” หรือ คำศัพท์ที่ระบุอัตลักษณ์แยกย่อยลงไป เช่น “้เกย์” “ชายรักชาย” “หญิงรักหญิง” “กะเทย” “ทรานส์เจนเดอร์” ฯลฯ คำเหล่านี้ล้วนเป็นภาษาที่ไม่มีนัยยะถากถาง หรือสื่อถึงความไม่เท่าเทียม และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ยอมรับและรู้สึกสบายใจที่สังคมจะเรียกพวกเขาด้วยศัพท์กลุ่มนี้

ภาษา กับ การลดทอนคุณค่า LGBTQ+ ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทย แม้คำศัพท์เรียกทัวร์ที่มีความหมายเหยียดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบตรง ๆ จะค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลาและความก้าวหน้าทางความคิด แต่จากข้อมูลจะเห็นว่า ยังมีชุดคำศัพท์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งที่มีนัยยะเชิงลบต่อกลุ่ม LBGTQ+ การพยามเปิดกว้างเพื่อทำความเข้าใจประเด็นตรงนี้ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว ในฐานะมนุษย์คงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงอะไร ที่จะเลือกใช้ภาษาที่ Friendly เรียกเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

“จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์โดยทีมงาน Punch Up ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE by Wisesight”

อ้างอิง

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio