Skip to content
Article/Knowledge

Punch In Live ? EP.03 : เรียนอะไร จบไปทำ Data storytelling? ตอนที่ #2

ต้องเรียนจบคณะไหน จึงได้มาทำงานด้าน Data storytelling ? ตอนที่ 2 

–ติดตามตอนที่ 1 ได้ที่ ลิงค์นี้

 

สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย (กานต์) Data Storyteller (ELECT)

จบคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรียนจบกฎหมาย แล้วมาทำงานด้าน Data storytelling ได้อย่างไร ?

เนื่องจากตัวเองเป็นคนที่ไม่ได้ชอบงานสายวิชาชีพกฎหมาย อย่างเช่น ทนายความ ผู้พิพากษา หรืออัยการ แต่ก็คิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่สามารถใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายของตนเองมาประยุกต์ใช้ จึงตัดสินใจลองหางานที่ไม่ตรงสายดู และการได้มาร่วมทำงานกับ ELECT คือจุดเริ่มต้นในการทำงานในสายนี้

 

แล้วจะออกแบบเนื้อหาทางกฎหมาย ให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า Data Storytelling ได้อย่างไร ? 

จริง ๆ เราสามารถหาประเด็น ความสนใจ หรือหัวข้อทางกฎหมายที่อาจจะนำมาแปรรูปได้เสมอ เพื่อให้ข้อมูลซึ่งแต่เดิมอาจจะเป็นตัวอักษรธรรมดา มีความยาวของเนื้อหาที่มาก ออกมาเป็นงาน หรือโปรเจคที่สามารถทำให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็มีหลายโปรเจคที่ผมได้ร่วมทำให้กับทาง ELECT เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องนี้ อย่างเช่น

 

— RE-CONSTITUTION ฐานข้อมูลรัฐธรรมนูญไทยออนไลน์: รัฐธรรมนูญไทยซึ่งในรูปแบบ Hard Copy มีอยู่แล้วทั่วไป รวมถึงทางออนไลน์ อย่างเช่น เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งก็เป็นฐานข้อมูลที่ดีระดับนึง มีรัฐธรรมนูญทุกฉบับครบถ้วน แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น สามารถเข้าดูรัฐธรรมนูญได้ทีละฉบับเท่านั้น ไฟล์รัฐธรรมนูญที่เป็น PDF นำไปใช้ได้ยาก การอ่านเปรียบเทียบหลายฉบับพร้อมกันทำได้ยาก

“โปรเจคนี้พยายามที่จะแก้ไขข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญไทย” 

 

 

 

 

โดยการแบ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ เป็นหมวด ตามหัวข้อน่าสนใจในรัฐธรรมนูญ แล้วพยายามนำเนื้อหารัฐธรรมนูญใส่ลงไป โดยมี Function สำคัญที่สามารถเลือกหมวดในรัฐธรรมนูญต่าง ๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบในพื้นที่เดียวกันได้ 2 ฉบับ ทำให้คนสามารถนำเนื้อหารัฐธรรมนูญในเรื่องนั้น ๆ มาเปรียบเทียบในที่เดียวกันได้ ซึ่งงานนี้ถือเป็นงานที่ท้าทายระดับนึงเหมือนกัน เพราะต้องนั่งทำมือ เอาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมา Fill ใส่ทีละอัน ซึ่งก็มีจำนวนมากมายรวมกันหลักร้อยมาตรา

 

— Constitution Drafting Assembly of Thailand ทำความรู้จัก สสร. แต่ละชุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย: ที่มารัฐธรรมนูญในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน โดย 4 ฉบับนั้นมีที่มาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็อาจจะหาได้จากสถาบันพระปกเกล้า ราชกิจจานุเบกษา หรือสภาผู้แทนราษฎร แต่ข้อจำกัดที่เหมือนกันก็คือ เป็นตัวอักษรล้วน มีเนื้อหาที่มีความยาวมาก ไม่ Friendly 

 

“โปรเจคนี้พยายามออกแบบเนื้อหาเรื่องที่มารัฐธรรมนูญให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น”

 

เพื่อให้คนได้รู้ว่า สสร. ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร งานนี้เลือกหยิบหัวข้อน่าสนใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ สสร. มา 10 หัวข้อ เช่น เพศสภาพ ระยะเวลาการทำงาน หรือคนดังทางการเมือง แล้วไล่เรียงหัวข้อไปด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ต่างกัน เช่น ถ้าพูดถึง สสร. ก็แสดงจะเป็นวงกลมที่มาเรียงต่อกันเป็นรูปวงแหวนเหมือนพานรัฐธรรมนูญที่อยู่บนอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และถ้า สสร. คนไหน มีประเด็นน่าสนใจ ก็จะถูกแทนด้วยสีต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับหัวข้อนั้น ๆ หรือถ้าเป็นเรื่องทางระยะเวลาที่เกี่ยวกับ สสร. ก็จะแสดงเป็น chart แถบสี แนวนอน เป็นต้น 

 

— Civil Movement 2020 ปีแห่งพลังของประชาชน: ในรอบเวลาที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นตลอด ซึ่งสำนักข่าวต่าง ๆ ก็พยายามรวบรวมเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด หรือของ Mob data ที่มีสถิติบอกว่า แต่ละพื้นที่ในไทย เกิดม็อบขึ้นกี่ครั้ง ที่ไหนบ้าง วันไหนบ้าง ชื่ออะไร แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของม็อบแต่ละครั้ง เช่น ม็อบครั้งนี้ส่งผลให้เกิดม็อบครั้งนั้น หรือเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านม็อบครั้งนั้นอย่างไร หรือม็อบเกิดมาเพราะเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอะไร 

 

“โปรเจคนี้พยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง”

 

เพื่อให้คนได้รู้ว่า รอบปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปีนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร หรือมีที่มาจากเหตุการณ์อะไรบ้าง เช่น ตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อให้เกิดการชุมนุมของเยาวชนกว่า 20-30 ครั้ง เกิดขึ้นมาจากการต่อต้าน นี่คือสิ่งที่พยายามจะสื่อว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์บางอย่าง เกิดจากแรงขับดัน ซึ่งอาจมาจากเจตจำนง หรือความเห็นร่วมกันบางอย่าง

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ในฐานะนักเรียนกฎหมายที่อยู่กับตัวอักษรทางกฎหมาย ไม่ว่าจะมาตราต่างในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หลักกฎหมาย หรือประเด็นต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางกฎหมาย ตัวเองรู้สึกว่าโจทย์สำคัญคือ ต้องพยายามถ่ายทอดและสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่เนื้อหาอาจมีความยาว ไม่น่าเข้าถึง ออกมาให้ “Easy to Learn” หรือเรียนรู้ได้ง่าย ทำให้คนรู้สึกว่าประเด็นเหล่านี้เข้าถึงได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องอ่านอะไรยาว ๆ ก็ได้ เพียงแค่เห็นภาพตรงนี้ก็เข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เหมือนกัน

 

ศุภิสรา  อิศรานุกูล (มีน) Data Storyteller (ELECT)
จบคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาการเมืองการปกครอง


คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง เรียนเกี่ยวกับอะไร?

 

เรียนเกี่ยวกับปรัชญาและความคิดทางการเมือง ทั้งที่เป็นแบบสถาบัน เช่น รัฐ องค์กรทางการเมือง

และเรียนพฤติกรรมทางการเมือง มองเชิงปัจเจกเพิ่มขึ้น ปัญหา/ประเด็นทางการเมือง เช่น ทหารกับการเมือง ธุรกิจกับการเมือง  คือมองทั้งจากบนลงล่างและล่างขึ้นบนนั้นเอง โดยใช้ทฤษฎีมาอธิบาย 

โดยทั่วๆไปสาขาการเมืองการปกครองเรียนจบมาเป็นอะไรได้บ้าง? เป็นได้ตั้งแต่ผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรี หรือจะมาแนวสายราชการ เช่น ปลัดอำเภอ นักวิเคราะห์ สามารถเป็นอาจารย์ นักวิชาการ และทำงานเอกชนได้เหมือนกัน เช่น งาน Hr และ admin แต่ก็ยังจำกัดอยู่

อีกสายนึงที่นึกไม่ถึงและไม่รู้ว่ามีเหมือนกัน คือ Data storytelling การนำข้อมูลมาเล่ามาสื่อสารในรูปแบบที่เข้าใจง่าย รูปแบบสวยงาม และสามารถ interact ผ่านเว็บไซต์ต่างๆได้ เรียกว่าเป็นแนวใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งได้ทั้งเอาความรู้ที่เรียนมาปรับใช้มาสื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย


แล้วปรับความรู้ทางรัฐศาสตร์กับ Data Storytelling อย่างไร?
ขอหยิบยกตัวอย่างโปรเจกต์ 2 ตัวอย่าง ดังนี้

 

— เกือบจะ 2 ปีแล้ว คณะรัฐมนตรี ‘พลเอกประยุทธ์ – ตู่ไม่รู้ล้ม’ ทำอะไรไปบ้าง? :

โปรเจกต์นี้เกี่ยวกับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี เรียกว่า มติคณะรัฐมนตรี โดยราชวนมาดู คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเขาตัดสินใจทำอะไรบ้าง?  ปรับจากรัฐศาสตร์อย่างไร? ใช้แว่นความเป็นรัฐศาสตร์เป็นการมองประเด็นต่างๆเหล่านี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะอยู่ฝ่ายบริหาร ซึ่งต้องทำหน้าที่การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจแบบไหนย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งภายในก็กระทบต่อประชาชน ทิศทางของประเทศ ถ้าตัดสินใจภายนอก/ระหว่างประเทศ ก็เปรียบเสมือนเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

แต่การตัดสินใจเหล่านี้ ทางรัฐศาสตร์เปรียบเสมือน  Blackbox ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้  ถ้าไม่มีกลไกของรัฐสภา(ฝ่ายนิติบัญญัติ) มาถ่วงดุล เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึง feedback ต่างๆจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจเหล่านั้นจริงๆ ด้วยความที่ใช้ความรู้รัฐศาสตร์นี้มาปรับนำเสนอ “การตัดสินใจ”พยายามรวบรวมมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนี้เกือบ 2 ปี ที่ทำงานมา สามารถดูรายละเอียดและ search ได้

 

และพยายามเจาะลึกลงไป ลองมาดูเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด – 19 ที่หลายๆคนกำลังเผชิญ แล้วคณะรัฐมนตรีตัดสินใจอย่างไร? ประชาชนมี feedback อย่างไร? 

 

 

 

 

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม : https://elect.in.th/cabinet-resolution/


— ตัวอย่างต่อมากับโปรเจกต์ที่สุดของตระกูลการเมืองไทย ถิ่นไหน..ใครครอง : 

โปรเจกต์นี้มีการเลือกตั้งหรือวาระการเมืองทีไร จะคุ้นๆกับนามสกุลเหล่านี้  หรือคำว่าบ้านใหญ่ จะมาดูประเด็นทางการเมืองกันบ้าง ถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติและการครองอำนาจของตระกูลใหญ่กับระบบการเมืองไทย เป็นอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร? โดยใช้ความเป็นรัฐศาสตร์มามอง


โดยหยิบเอาข้อมูลของนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มาหาความสัมพันธ์ทางเครือญาติร่วมกับเชิงพื้นที่ เพื่อแผ่ให้เห็นเครือข่าย และพยายามอธิบายความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความเป็นของตระกูลเหล่านี้ จากประวัติของเขาว่าทำไมถึงขึ้นมามีอิทธิพลได้

 

แต่สุดท้ายในโปรเจกต์นี้ไม่อาจบอกชัดเจนว่า ความเป็นบ้านใหญ่เหล่านี้ส่งผลดีไม่ดีอย่างไร? ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ตระกูลใหญ่/บ้านใหญ่เขาได้สร้างผลลัพธ์อย่างไร? และทำให้รู้ถึงความสัมพันธ์การยึดโยง ความสัมพันธ์ของตระกูล ดังนั้น โปรเจกต์นี้พยายามเปิดเผยข้อมูลให้เห็นความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับระบบการเมือง เพื่อประโยชน์จะเข้ามาดูความสัมพันธ์ ประชาชนจะคอยติดตามผู้แทนของตน และบุคคลก้าวสู่สนามการเมืองต่อไป

 

 

 

 

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม : https://elect.in.th/political-network/

 

สุดท้ายโปรเจกต์ข้างต้นเป็นตัวอย่างที่รัฐศาสตร์ไม่ใช่มีเส้นทางอาชีพเฉพาะสายอาชีพแบบเดิม ยังสามารถนำความรู้ที่เรียนมาปรับใช้เพื่อสื่อสาร เป็น Data Storytelling ได้ ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว เรื่อง Data Storytelling ไม่ว่าเรียนจบอะไรมา หากมีใจรักในการสื่อสารเรื่องราว ก็สามารถหยิบประเด็นเหล่านั้นออกมาสื่อสารได้ อาจเริ่มจากประเด็นที่สนใจและขยายต่อไป เพื่อเปิดเผยข้อมูล ให้คนในสังคมรับรู้ เห็นมุมมองของข้อมูล (Data) ใหม่ๆ
<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio