Skip to content
Article/Knowledge

Punch In Live ? EP.03 : เรียนอะไร จบไปทำ Data storytelling? ตอนที่ #1

ต้องเรียนจบคณะไหน จึงได้มาทำงานด้าน Data storytelling ?

คำถามย้อนฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน หลายองค์กรกล่าวขานว่า ปี 2021 เป็นยุคทองของ Data งานทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เเล้วใคร อาชีพใดหรือต้องเรียนจบคณะไหน ถึงจะสามารถทำงานด้านข้อมูลหรือ Data storytelling ได้ดี 

หากยึดตามหลักการหรือทฤษฎี อาชีพที่ดูจะเหมาะกับงานนี้น่าจะเป็น Data scientist หรือนักวิเคราะห์ข้อมูล ที่มีความรู้เเละความเชี่ยวชาญด้าน Computer science สามารถเขียนโค้ดงานต่าง ๆ ได้ ถนัดคณิตศาสตร์เเละสถิติศาสตร์ เเละมีความเข้าใจงานขององค์กรเป็นอย่างดี เเต่การที่จะหาคน ๆ เดียวเเละมีทักษะครบเเละตอบโจทย์องค์กร อาจต้องใช้เวลา

เเต่เเท้จริงเเล้ว การทำงานด้าน Data storytelling หลายคนอาจทำได้ โดยตั้งต้นจากความอยากเล่าเรื่องด้วยข้อมูล เป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น มีความคิดสร้างสรรค์เเละมีทักษะการสื่อสารได้ดี ส่วนความรู้ด้านสถิติหรือการวิเคราะห์ข้อมูล หากมีความรู้เบื้องต้นอยู่เเล้วก็จะยิ่งส่งเสริมให้งานมีประสิทธิภาพ เเต่สิ่งเหล่านี้เรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

เเล้ว Data Storytelling ของ Punch Up เเละ ELECT เรียนจบอะไรเเละมีประสบการณ์อย่างไร ไปหาคำตอบกัน

1. วรุตม์ อุดมรัตน์ (ออมสิน) Project Coordinator (Punch Up)

จบคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ  

จากบัณฑิตจบใหม่รัฐศาสตร์ การระหว่างประเทศ ทำไมมาลงเอยที่งานชื่อแปลกๆ นี้ เอาจริงๆ ก็ยังคงเป็นคำถามคาใจที่ยังตอบแบบชัดชัดไม่ได้สักที แต่เราจำได้ว่าตอนนั้นไม่อยากทำงานแบบราชการจ๋า และเอกชนจ๋า (ไม่อยากทำราชการเพราะกลัวถูกระบบกลืนกิน ไม่อยากทำเอกชนเพราะกลัวงานที่ตัวทำไม่มี Impact ต่อสังคม *ความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ ) เลยมีทางเลือกเหลืออยู่แคบเหลือเกิน คือไปทำองค์กรระหว่างประเทศ NGOs หรือหางานอะไรบางอย่างที่หาคำนิยามชัดๆ ไม่ได้ไปเลย …  

บังเอิญว่าไปเจอพี่ที่รู้จักแนะนำตำแหน่ง Project Coordinator ของ Punch Up บริษัทเล็กๆ ที่เพิ่งเปิดใหม่มาให้ สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่ตำแหน่ง แต่คือ Job Description ที่แตะงานที่อยากทำพอดี คือมีทั้งงานที่ทำในนามเอกชน (Production agency) และยังได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคมด้วย (ด้วยโปรเจกต์ของ ELECT ที่ทำเรื่องข้อมูลการเมือง) โดยมีแก่นสำคัญคือต้องเน้นการ “เล่าเรื่องด้วยข้อมูล” ต้องบอกเลยว่าเป็นงานที่เข้ากรอบงานที่ยังหาคำนิยามให้มันยังไม่ได้เต็มๆ จนกระทั่งได้โอกาสเข้ามาทำงานที่นี่จริง ถึงตอนนี้ก็ขวบที่ 2 แล้ว (เป็นพนักงานคนแรกด้วย เข้ามาด้วยความขี้สงสัย55) จนได้วันนี้เลยจะขอมีโอกาสเล่า “นิยาม” ของงาน Data Storytelling ในมุมมองของเด็กรัฐศาสตร์ตัวเองคิดขึ้นมาเองให้ทุกคนฟังหลังจากที่ลองผิดลองถูกกับงานรูปแบบนี้มาสักพัก กับเล่าผลงานบางส่วนที่ผ่านมาและอยากจะแชร์ให้ทุกได้อ่าน

การเมืองและการสื่อสารด้วยข้อมูล สัมพันธ์กันอย่างไร?

ในฐานะคนที่เรียนเรื่องการเมือง ส่วนตัวเรามองการเมือง = ในฐานะข้อตกลงร่วมกันผ่านปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ตามพลวัตรของเวลา เราต่างหาวิธีอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบและโครงสร้างอำนาจที่ต่างกันออกไป ปฏิสัมพันธ์ที่ดีต้องการความเข้าใจจากคนหมู่มาก เพื่อทำให้การสื่อสารไปถึงผู้รับสาร นำไปสู่อะไรใหม่ๆ ข้อมูลเป็นหลักประกันหนึ่งของความเข้าใจนั้น การเล่าเรื่องด้วข้อมูลจึงสำคัญและถูกใช้มาตลอดเวลานับหลายชั่วคน ในบทบาทของ Punch Up เราเพียงนำข้อมูลที่มีจำนวนมาก และเข้าใจได้ยาก ออกมาสร้างเป็นงาน Data Storytelling ผ่านกระบวนการออกแบบและวิธีการเล่าเรื่องด้วย Interactive Media และเทคโนโลยีมากขึ้นเท่านั้นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

—  The Cabinet Dynasty ครม.ไทยเปลี่ยนฝ่ายย้ายข้างมากน้อยแค่ไหน?

โปรเจกต์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของข้อมูลจำนวนมาก ที่ถ้าเรานำมาจัดระเบียบและลองหา Insight อะไรจากมัน เราจะค้นพบอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ที่อาจมีประโยชน์ต่อการศึกษาข้อมูลการเมืองในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย

โปรเจกต์  The Cabinet Dynasty  เป็นโปรเจกต์ที่เกิดจากน้องฝึกงานคนหนึ่งของ  Boonmee Lab บริษัทเพื่อนบ้านของ  Punch Up ริเริ่มขึ้น น้องเป็น Data Scientist ที่สนใจข้อมูลนักการเมือง จึงลองดึงข้อมูลรายชื่อคณะรัฐมนตรี หรือครม.ของประเทศไทยที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยนายกฯ ชวน หลีกภัยมาจนถึงปัจจุบัน (รัฐบาลประยุทธ์ 3) เพื่อมาลองหาความเชื่อมโยงระหว่างครม.เหล่านี้กับกลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีมาตั้งต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

 

 

 

 

 

 

เนื่องจากครม.ไทยมีจำนวนมาหน้าหลายตานับร้อยคน และคำถามที่ต้องการจะหาคำตอบคือ.”รัฐมนตรีไทย ชอบเปลี่ยนฝ้ายย้างข้าง หรือยังจงรักต่อขั้วการเมืองที่ตัวเองเคยอยู่กันแน่?”  เราจึงพยายามกรองข้อมูลรัฐมนตรีเหลือเพียงรัฐมนตรีที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 สมัยขึ้นไป ออกมาวิเคราะห์และแบ่งกลุ่มการเมืองออกเป็น 3 ขั้ว คือ 1. ขั้วทักษิณ 2. ขั้วประชาธิปัตย์ และ 3. ขั้วทหาร อ้างอิงจากการเมืองสมัยใหม่หลังปีพ.ศ. 2535 ที่มีรัฐบาลจาก 3 กลุ่มการเมืองนี้เป็นหลัก ซึ่งพอลองดูการแนวโน้มการเปลี่ยนฝ่าย ย้ายข้างก็พบว่า มีรัฐมนตรีหลายคนที่ทำงานกับขั้วการเมืองหลายขั้ว ส่วนบางคนก็ยังจงรักภักดีต่อขั้วการเมืองที่ตัวเองสังกัดตั้งแต่ตอนแรก หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคยอยู่ขั้วนี้ ขั้วนั้น ก็ได้เห็นกันเต็มๆ จากงานนี้เอง (หลายรายชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลยุคปัจจุบันก็ต่างโยกย้ายมาจากขั้วอื่น)

 

งานยังลองใช้ชาร์ตหลายรูปแบบ ในการอธิบายแนวโน้มของการย้ายข้าง เช่น การใช้กราฟเส้น และกราฟสามเหลี่ยม ที่เปิดโอกาสให้ได้เห็นเส้นทางการอยู่ในวงการการเมืองของรัฐมนตรีแต่ละคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าอยากรู้ว่ารัฐมนตรีไทยคนไหน มีพัฒนาการทางการเมืองอย่างใด ก็สามารถไปดูงานตัวเต็มๆ กันได้เลย

 

 

 

 

 

 

 

เข้าถึงงานได้ที่ : https://elect.in.th/cabinet-dynasty/ 

 

 

—  เปิดกระป๋องแบรนด์ทูน่าไทย อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ พร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

 

 

 

 

 

โปรเจกต์แรกที่ Punch Up ได้ร่วมงานกับ Greenpeace ประเทศไทย เปิดกระป๋องแบรนด์ทูน่าไทย เป็นงานที่ท้าทายและสนุกในมุมมองของคนเป็น Data Storyteller มาก เพราะมีเรื่องเล่าใหม่ๆ มากมายที่คนยังไม่เคยรู้จัก อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยตั้งคำถามกับมัน

เนื่องจาก Greenpeace มีการทำรายงานความยั่งยืนของแบรนด์ทูน่ากระป๋องในปี 2020 เอาไว้ โดยเน้นไปที่แบรนด์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยที่เป็นผู้ผลิตทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก ในรายงานมีการพูดถึงประเด็นความโปร่งใส และการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะในกระบวนการจับปลา และวิถีชีวิตของแรงงานที่อยู่บนเรือ นำเสนออกมาผ่านการให้คะแนน และจัดประเภทของคะแนนเป็น น้อย กลาง มาก ตามลำดับ ซึ่งทำให้วิธีการเล่าเรื่องด้วข้อมูลของงานนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น และสามารถเพิ่มลูกเล่นบางอย่างเข้าไปได้ 

 

เล่าข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้อ่าน

ด้วยความที่เนื้อหาของรายงานผูกโยงกับแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่เราต่างรู้จักกันดี เราจึงเลือกธีม Supermarket เข้ามาเป็นวิธีเล่าหลัก โดยให้ผู้อ่านได้ลองเลือกแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ชื่นชอบ มา 1 แบรนด์ จากนั้น เนื้อหาที่จะถูกนำเสนอในงานเกือบทั้งหมด ก็จะถูกจัดให้เป็นเนื้อหาของแบรนด์ที่ผู้อ่านเลือก เล่าประเด็นปัญหาพร้อมกับให้พวกเขาได้เปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ที่อาจทำได้ดีกว่า หรือแย่กว่าแบรนด์ที่เลือก ผ่าน 3 หัวข้อสำคัญคือ ชนิดพันธุ์ปลาที่จับ ความโปร่งใส และวิธีการตรวจสอบย้อนกลับโดยผู้บริโภค 

 

 

 

 

 

 

ส่งจดหมายถึงแบรนด์ที่เราชอบ

ไม่ว่าจะแบรนด์ไหนที่เลือก ก็ต่างมีข้อดีข้อเสียไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เราเชื่อว่าผู้อ่านเมื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องไทยแล้ว ก็คงอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อให้แบรนด์ได้ตระหนักรู้ถึงความกังวลที่เกิดขึ้น เราจึงเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ส่งข้อเสนอแนะสู่แบรนด์ที่เลือก โดยสามารถเรียงลำดับข้อเรียงร้อย จากสำคัญมากที่สุด ไปน้อยที่สุดได้  เพื่อให้ทาง Greenpeace ได้นำข้อมูลความเห็นนี้ ไปยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

เข้าถึงงานได้ที่ : https://tuna2020.greenpeace.or.th/ 

 

ด้วยพลังของข้อมูลทั้งจากการเก็บด้วยตัวเราเอง หรือจากรายงานที่เราได้รับโจทย์มา จะเห็นได้ว่าวิธีการเล่าเรื่องนั้นมีหลากหลาย และที่สำคัญคือข้อมูลนั้นมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเล่าเร่องของานเป็นอย่างมาก ในฐานะ Data Storyteller คนหนึ่งจึงเชื่อว่าถ้ามีคนหันมาลองเล่าเรื่องด้วยข้อมูลมากขึ้น วิธีการและเนื้อหาที่ถูกนำเสนอคงมีหลากหลาย และยังช่วยเปิดพื้นที่ให้กับความสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลอีกมาก

 

2. อรปวีณ์ วงศ์วชิรา (มุก) Project Coordinator (Punch Up)

จบคณะเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร (นิเทศศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร เเละคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำเเหง

เรียนจบนิเทศศาสตร์ เอกวารสารเป็นนักเขียนเเละนักข่าวได้อย่างเดียวหรือไม่? เป็นคำถามที่ถามตัวเองหลังจบการศึกษาใหม่ ๆ เเต่เมื่อผ่านการทำงานมาหลายปี ก็สามารถตอบคำถามตัวเองได้ 

คำตอบคือไม่ใช่ เราสามารถนำความเชี่ยวชาญที่มีด้านการจับประเด็นเเละการตั้งคำถามต่อข้อมูลมาใช้ในงาน Data storytelling ได้ด้วย การเรียนนิเทศศาสตร์ทำให้เราคุ้นเคยกับการอยู่กับข้อมูลจำนวนมากที่วิ่งวนรอบตัว ก่อนจะคัดกรองเเละวิเคราะห์เพื่อนำเสนอประเด็นสังคมใหม่ๆ เเละจากประสบการณ์การทำงานด้านข่าวเเละสารคดีกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นข้อดีของข้อมูลเเละอยากยกระดับการสื่อสารให้ดีขึ้น

 

“ส่วนตัวอยากยกระดับงานข่าว งานสื่อสารในรูปแบบใหม่ ให้คนเข้าใจประเด็นสังคมที่ยากให้ง่ายมากขึ้นโดยเชื่อว่าการพูดคุยหรือถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ในสังคม ควรมาจากการเข้าถึงชุดข้อมูลหรือสื่อที่ดีเหมือนกัน”

ในการทำงาน เริ่มต้นตั้งโจทย์เเละตั้งคำถามกับชุดข้อมูลที่ได้ หรือเริ่มจัดการข้อมูลต่าง ๆ ก่อนมาวิเคราะห์ประเด็น ส่วนตัวนำความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เเละการสื่อสารเเคมเปญมาใช้ในขั้นตอนการจัดการข้อมูล โดยยึดหลักทฤษฎีการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนเเปลงสังคม ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกัน ได้เเก่ Problem สภาพปัญหาของเรื่องนั้น ๆ เราต้องสื่อสารเพื่อให้คนได้ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน เมื่อยกปัญหาขึ้นมาเล่าเเล้ว การที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้มากขึ้น คือการนำ Supporting data หรือ stat ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นมาเล่าต่อ เมื่อผู้อ่านเข้าใจสภาพปัญหาอย่างชัดเจนเเล้ว ก็เริ่มเสนอ Solution หรือทางออก เเละจบที่ข้อเรียกร้อง Call to action เพื่อระดมเสียงระดมพลังในการเเก้ปัญหาสังคมนั้น ๆ

 

 

 

 

 

—  ยกตัวอย่างโปรเจค Slavery at sea : here to stay or time to go ? ที่ Punch Up ร่วมกับ Greenpeace Southeast Asia เพื่อตีเเผ่ปัญหาการค้าเเรงงานทาสบนเรือประมง จาก report ประจำปี 2020 เเปลงมาเป็นงาน data visualization 1 ชิ้น เมื่อได้รับโจทย์มา สิ่งเเรกคือการหาข้อมูลเเละเเตก Flow การเล่าเรื่องตามทฤษฎีการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนเเปลงสังคม เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาเเละร่วมกันส่งเสียงเรียกร้อง เพราะเเท้จริงเเล้ว ทุกคนอาจมีส่วนที่ทำให้การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงยังคงอยู่เเละไม่ได้รับการเเก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากนั้นหาข้อมูลมาสนับสนุนเพื่อทำให้การเล่าเรื่องสมบูรณ์เเบบตั้งเเต่ต้นจนจบ

 

นอกจากการใช้หลักสื่อสารเพื่อให้ผู้รับสารได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเเล้ว การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้อ่านก็สำคัญไม่เเพ้กัน เพราะหากอยากให้ผู้อ่านได้เข้าใจเเละคิดต่อยอดจากงานได้ เราต้องรู้จักผู้อ่านให้ดีที่สุดก่อน

 

“ทำงานสื่อสาร จำเป็นต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายเเละ Insight ของปัญหาให้ได้มากที่สุด เราทำงานไม่ได้หากยังไม่ได้คุยหรืออ่านสังคมไม่ดีพอ”

—  ยกตัวอย่างโปรเจค #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา กับการเปิดตัว Live crowdsourcing platform เปิดโอกาสเเละเปิดพื้นที่ให้เด็ก Gen Z ได้ออกมาเเลกเปลี่ยนความเห็นเเละระดมไอเดียเพื่อเเก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก่อนนำไปเขียนเป็น Playbook โดยคนรุ่นใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่เล่มเเรกในไทย โปรเจคนี้ได้รับโจทย์มาจากดีเเทค เเละมาเเตกยอดความคิดว่าหากอยากได้ความเห็นของเด็ก จำเป็นต้องรู้เเละเข้าใจปัญหานั้น ๆ ให้เป็นอย่างดีก่อนที่จะออกเเบบเเฟลตฟอร์ม จึงได้จัดทำ Focus group พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย 30 คน รวมถึงศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องเเล้วจึงนำมาออกเเบบพื้นที่โดยใช้ภาษาที่เป็นกันเอง เพื่อสร้าง safe zone ในการเเสดงความเห็น เเละท้ายที่สุดโปรเจคประสบความสำเร็จ มีเด็ก Gen Z เข้ามาเเชร์ไอเดียเเละส่งต่อข้อความกว่า 1.4 ล้านครั้ง

 

 

 

 

—  ไม่ต่างจากโปรเจค Horoscope of saving ที่ Punch up ได้ร่วมกับธนาคารกรุงเทพเพื่อเเนะนำผลิตภัณฑ์การออมเเละการลงทุนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเเต่ละคน โดยโปรเจคนี้จะปล่อยงานในเว็บไซต์ไทยรัฐ เราจึงมาคิดโจทย์ต่อว่าเพื่อให้งานนี้เข้าถึงผู้อ่านที่เป็นเเฟนคลับของไทยรัฐเป็นหลักได้คืออะไร จึงไปพบว่าคอลัมน์ดูดวงของไทยรัฐได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำรวจความเห็นผู้ที่ดูดวงเป็นประจำ พบว่าเรื่องการเงินเป็นประเด็นอันดับที่ 2 ที่ผู้ดูดวงมีการถามไถ่เเละมีความกังวลมากที่สุด ดังนั้นเราจึงนำเรื่องการดูดวงเเละการเเนะนำผลิตภัณฑ์การเงินมาไว้ด้วยกัน

 

 

 

 

 

ขณะที่โปรเจคล่าสุดอย่าง “เจาะปัญหา… ป่าทับคน คนทับป่า” งานชิ้นนี้จะมีความคล้ายงานข่าว เเต่ข้อดีของการนำมาทำ visualization คือการเปลี่ยนข้อมูลที่เข้าใจยาก ให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นเเละนำเรื่องเชิงพื้นที่ มาให้ผู้อ่านได้เห็นอย่างชัดเจน เสมือนได้ลงพื้นที่จริงผ่านเทคนิคโดรนเเละภาพ 360 องศา เพื่อร่วมสำรวจ เข้าใจปัญหา ร่วมตั้งคำถามเเละได้หามุมมองจากทุกซอกมุมของพื้นที่ที่บางครั้งนักข่าวอาจจะมองลงไปไม่ถึง อีกทั้งงานนี้ยังรวมเคสประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายมวงคืนผืนป่าไว้ที่เดียวกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในอนาคตที่หากใครอยากหาข้อมูลในเรื่องนี้เพิ่มเติม ก็เข้ามาที่เว็บของเราได้

 

 

 

 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งยืนยันเเละพิสูจน์ได้ว่า เเม้ไม่ได้จบด้าน Data Scientist ก็สามารถทำงานด้าน Data Storytelling ได้ ส่วนตัวมองว่าสิ่งสำคัญของงานไม่ว่าจะงานใด ควรจะเริ่มต้นมาจากความอยาก เช่นเดียวกับงานนี้ เราอยากยกระดับงานสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น จึงนำเรื่องการสื่อสารมาจับกับการวิเคราะห์ข้อมูลหรือ data เพื่อให้ data driven เป็นตัวพระเอกเเละพาเรื่องราวออกสู่สังคม ให้คนเข้าใจเเละเกิดการพูดคุยหรือถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกันในอนาคต

— ติดตามตอนที่ 2 กันต่อได้ที่ ลิงค์นี้

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio