“มันคือการตั้งคำถามที่ใช่ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง”
“มันคือการใช้พลังของข้อมูล และการทำงานกลับไปกลับมาระหว่างข้อมูลกับเรื่องราว จนกว่าอะไรๆ จะเมคเซนส์”
“มันคือการมองเห็นรูปแบบ เทรนด์ หรือโครงสร้างในบางสิ่ง ที่เอามาใช้อธิบายบางอย่างได้”
นี่คือคำตอบจากคำตอบจาก Newsroom ของ The Guardian เมื่อถูกถามว่า ‘Data Journalism’ คืออะไร?
ข้อมูลคือน้ำมัน, ทอง, ขุมทรัพย์ หรือคืออะไรก็ตามที่มีค่ามากเหลือเกินในยุคสมัยนี้ แม้แต่ในวงการสื่อ การใช้ข้อมูลนอกจากจะช่วยให้ประเด็นแข็งแรง น่าเชื่อถือ และโปร่งใสตรวจสอบได้แล้ว ยังช่วยจุดประเด็นใหม่ๆ ที่บางครั้งเรามองเห็นได้ต่อเมื่อมีข้อมูลที่มีรูปแบบและมีจำนวนมากพอ รวมถึงช่วยผลักดันให้เกิดการถกเถียงสร้างสรรค์ในสังคมอีกด้วย วงการสื่อทั่วโลกจึงร่วมกันผลักดันให้ ‘วารสารศาสตร์ข้อมูล’ (Data Journalism) ซึ่งเป็นกระบวนการสื่อสารที่ใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Structured data) เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง และมีการใช้ระเบียบวิธีจัดการข้อมูลบนฐานคิดแบบวัตถุวิสัย (Objective) เข้ามาเป็นรูปแบบที่สำคัญในการสื่อสาร
ขณะที่เราเห็นตัวอย่างที่น่าสนใจมากมายจากหลายๆ ประเทศ นี่คือผลงาน Data Journalism ของประเทศไทย จากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘พัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก’ ของชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ: Thailand Data Journalism Network) ที่อยากชวนให้ลองดู
ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?
อิฐ หิน ดิน คอนกรีตที่ใช้สร้างถนนสร้างสะพานหน้าบ้านเรา ใครหรือบริษัทอะไรเป็นคนรับเหมาหรือรับผิดชอบ? องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 636,573 ล้านบาท 44% ของมูลค่าโครงการทั้งหมดหรือ 49,962 ล้านบาท ถูกใช้ไปกับการจัดซื้อจัดจ้างด้านโยธา งบประมาณนี้อยู่ในมือใครบ้าง? มีวิธีใช้อย่างไรบ้าง? แล้วมีแนวโน้มที่จะขาดความโปร่งใสแค่ไหน? ชวนดูใน https://bit.ly/2lPP6BS
ประเทศไทย พร้อมหรือยัง? ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม เพิ่มจำนวนต่อเนื่อง ขาดความเข้าใจ ขาดแพทย์ วิกฤติชาติ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (dementia) ประมาณ 6 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่สำคัญคนไทยทั่วไปขาดความรู้ความเข้าใจในภาวะสมองเสื่อม อัตราการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมยังอยู่ในระดับต่ำมาก (ประมาณ 10 % ของผู้ป่วยทั้งหมด) และทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ควรได้รับ ลองดูข้อมูลเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมของคนไทย เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐและประชาชนเตรียมพร้อมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพได้ที่ https://tabsoft.co/2mnbtPz
เปิดข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ความสัมพันธ์แหล่งเก็บน้ำ กับอุณหภูมิแปรปรวนทั่วไทย
เชื่อไหมว่า.. ในอนาคต คนไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ฐานข้อมูลย้อนหลัง 30 ปีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน หรือปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งเก็บน้ำ ทำให้เราเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะภัยแล้งซ้ำซาก เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งเก็บน้ำน้อยลง ส่งผลให้น้ำต้นทุนในแหล่งเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤต และยกตัวอย่างว่าแค่น้ำที่ต้องใช้ในการปลูกข้าวทั้งประเทศใน 1 ฤดูกาล ยังมากกว่าปริมาณน้ำที่มีในแหล่งน้ำทั้งประเทศถึง 38 % ลองดูข้อมูลชุดนี้ได้ที่ http://www.tja.or.th/media-law/5189–30
เจาะตัวเลขปัญหาคนล้นคุก และนักโทษติดซ้ำ
ประเทศไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังมีไม่ต่ำกว่า 3.6 แสนคน แต่เรือนจำทั่วประเทศมีความสามารถดูแลผู้ต้องขังเพียง 1.2 แสนคน จนเกิดปัญหานักโทษล้นคุก เกิดความแออัด รวมถึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ฐานข้อมูลตัวเลขผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง พบว่าหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักโทษในประเทศไทย คือผู้ต้องขังกลับมาติดคุกซ้ำ ลองสำรวจข้อมูลและข้อค้นพบเกี่ยวกับปัญหาในคุกได้ที่ http://www.tja.or.th/media-law/5196-2019-09-27-14-42-30
ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูลต้นไม้ใหญ่
เมื่อเดือนเมษายน ปี 2562 รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม ที่ใช้บังคับมายาวนานกว่า 78 ปี หรืออีกนัยหนึ่งคือการตัดต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้มีค่า “ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาต” อีกต่อไป จึงเกิดคำถามที่ตามมาว่า ต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้เก่าแก่ที่มีสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและมีคุณค่าทางจิตใจของชุมชน ที่อยู่นอกเขตป่าคุ้มครอง ใครจะมีสิทธิในการอนุรักษ์? ขณะที่อีกปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศไทยยังไม่เคยมีฐานข้อมูลต้นไม้ใหญ่ หรือต้นไม้มรดกที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบเลย ลองดูและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดม “โอเพ่น ดาต้า ปักหมุดต้นไม้มรดก” เพื่อช่วยกันผลักดันกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ได้ที่ http://tiny.cc/heritagetrees
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TDJ: Thailand Data Journalism Network ได้ที่ http://www.tja.or.th/index.php