Skip to content
Article/Behind the Scenes

เลือก(ตั้ง)แล้วได้อะไร? อยากรู้.. เลยจัดให้ใน ‘ELECT after Election’

เก้าอี้ 750 ตัว จำลองรัฐสภาไทย, เสียงขานเลือกนายกฯ ของตัวแทนแต่ละพรรค, ข้อมูล ส.ส. และ ส.ว. บนเก้าอี้แต่ละตัว, หุ่นลมนายกรัฐมนตรีคนที่ 29, โปสเตอร์ที่อีโมจิเป็นสัญลักษณ์ และแท่นใบเสร็จราคาของการเลือกตั้ง

เหล่านี้คือคำตอบของคำถามที่ทีมงาน Punch Up ชวนกันคิด เมื่อได้รับโจทย์ให้ช่วยออกแบบวิธีการสื่อสารในนิทรรศการ ‘ELECT after Election’ คำถามที่ว่า “จริงๆ แล้ว เราได้อะไรจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาบ้าง?” เป็นสิ่งที่เราคุยกันอยู่ทุกวัน เมื่อเปิดเจอข่าวสารด้านการเมืองต่างๆ บนหน้าฟีด

เราเห็นหน้าตาที่เคยคุ้นในบางส่วนของสมาชิกรัฐสภา แต่ก็เหมือนว่าเราไม่เคยรู้จัก ‘ผู้แทน’ ของเราดีนัก และเรารู้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คือบทเรียนราคาแพง แต่เราก็ไม่เคยทบทวนกันชัดๆ ว่าเราแต่ละคนสูญเสียอะไรกันไปบ้าง

ด้วยความหวังว่าประชาธิปไตยไทยจะได้ไปต่อ และด้วยแรงสนับสนุนจาก Boonmee Lab และ Don Boy Studio นี่คือที่มาของ ‘ELECT after Election’ Data-Driven Exhibition ที่ Punch Up อยากแบ่งปันให้ฟัง

Idea, Ideas, Ideasss

“แปะบันไดเป็นไทม์ไลน์ไล่ลงมาดีกว่า ว่านานแค่ไหนกว่าจะได้เลือกตั้ง”
“เอาข้อมูลจาก Social Listening ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มาทำเกลียวอะครีลิคสีๆ ก็น่าจะดีนะ”
“อยากห้อยๆ อะไรลงมาจากชั้นบนสุดอะ, เอ้อ.. ขอจอ LED ด้วยพี่!”
“ส่งโปสการ์ดถึงประชาธิปไตยไทยกันเหอะ”

กว่าจะมาเป็นคำตอบสุดท้ายที่ไปดูกันได้ที่ หอศิลปฯ กรุงเทพ ชั้น L ในตอนนี้ จริงๆ แล้วมีไอเดียเกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อเผชิญหน้ากับข้อจำกัดด้านเวลา และไม่อยากให้ราคาที่ต้องจ่ายสูงแข่งกับการจัดเลือกตั้ง ? นิทรรศการที่ทำออกมาในรัฐสภาจำลองจึงเกิดขึ้น เพื่อตั้งใจเปลี่ยนชุดข้อมูลบนหน้าจอออกมาเป็นนิทรรศการชั่วคราว หวังจะสร้างอีกรูปแบบของประสบการณ์ในการเข้าถึงข้อมูลให้กับคนไทย

“เก้าอี้ 750 ตัวนี่ตั้งได้จริงเหรอ?” คำถามที่ถามกันหลายรอบเพื่อย้ำให้มั่นใจ ว่าจะมีที่นั่งเพียงพอสำหรับสมาชิกรัฐสภาทุกคน
“ข้อมูลจะอยู่บนเก้าอี้พวกนั้นได้ยังไง?” นำไปสู่การบรรจุข้อมูลในรูปแบบป้ายราคาติดเก้าอี้
“ถ้าเอาเก้าอี้ไปตั้งเฉยๆ คนจะอยากมาดูไหม?” เป็นที่มาของกลไกการกดปุ่ม
“ให้อะไรเป็นของขวัญสำหรับคนไปงานดี?” .. อ้ะ เอาใบเสร็จไป กับให้ถ่ายรูปกับหุ่นลุงตู่ละกัน ?

 

Let Tech Help!

เมื่อสรุปภาพในหัวได้ตรงกัน ขั้นตอนต่อไปคือสร้างมันขึ้นมา! 

ความท้าทายอย่างแรกคือข้อมูลที่จะนำมาใช้ในนิทรรศการนั้นกระจัดกระจายอยู่หลายที่ ไม่มีระบบ ข้อมูล ส.ส. อยู่ที่ ส.ว. อยู่ทาง อยากได้ประวัติส่วนตัวก็ต้องไปควานหา คะแนนโหวตที่ได้มาก็ต้องไปดูใน pdf ของ กกต. จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้รวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่ต้องสับสนวุ่นวาย ?

ความท้าทายลำดับต่อไป คือการสร้างอาร์ตเวิร์กจากข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ ดีไซเนอร์จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการจัดวางสิ่งเหล่านี้ แต่โชคดี! ที่เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ 

วิธีการเชื่อมโยงขัอมูลจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน ด้วย Python : https://colab.research.google.com/drive/1Vd75c0FFlSMHhqhvprC2571Nxa2JUrQi

วิธีการจัดวางข้อมูลในรูปแบบซ้ำๆ หลายๆ อันบน Adobe Illustrator : https://www.youtube.com/watch?v=aUiRGLT8byA

 

Make It Happen

สุดท้ายนี่คือผลลัพธ์ของการระดมสมองและสกิลด้านต่างๆ รวมถึงเป็นคำตอบของคำถามว่า “เลือก(ตั้ง)แล้วได้อะไร?”

? รัฐสภาจำลอง พร้อมเก้าอี้ครบจำนวน ส.ส. และ ส.ว. 750 ตัว โดยแบ่งเป็น ส.ว. ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ฝ่ายค้าน แต่ละตัวมีป้ายให้อ่านว่าแต่ละคนในสภาคือใครบ้าง มีสัดส่วนอย่างไร แต่ละคนมาจากคะแนนเสียงประชาชนเท่าไหร่ (แน่นอนว่า ส.ว. แต่งตั้งมาจาก 0 เสียง)
? แต่ละส่วน จะเห็นมีเก้าอี้สีดำ ที่มีปุ่มสีแดงให้กด เพื่อจำลองบรรยากาศวันเลือกนายกฯ
? หุ่นลมนายกฯ ที่ยืนแถลงนโยบายให้ฟังอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย (เผื่อวันนั้นใครฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง)
? ไปแล้วอย่าลืมแวะรับใบเสร็จ ‘ราคาของการเลือกตั้ง’ 5,386 ล้านบาท และเวลาที่เสียไป 1,875 วัน นับตั้งแต่รอเลือกตั้งยันรอตั้งสภา ที่เราในฐานะคนไทยทุกคนต่างก็เสียไป
? โปสเตอร์งานที่อีโมจิ 750 ตัวเป็นสัญลักษณ์ ให้ลองเล่นลองทายกันได้ ว่าอะไรแทนใครกันบ้าง


นิทรรศการ “ELECT after Election : เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง” จัดขึ้นในช่วงวันอังคารที่ 27 สิงหาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น L (BACC) เปิดให้ผู้เข้าชมทั่วไป เข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio