Skip to content
Article/Infographic

โตโน่ & ภารกิจพิชิตแม่น้ำโขง : แคมเปญชวนทำดี (หรือควรเป็นหน้าที่รัฐฯ)?


เป็นกระแสฮือฮาสะท้านโลกโซเชียล ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังนักร้องนักแสดงหนุ่ม โตโน่ – ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ประกาศแคมเปญเพื่อการกุศลภายใต้ชื่อ One Man and The River

โดยมีภาคกิจหลักในการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง จากบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช จ.นครพนม ไปยัง วัดพระธาตุศรีโคตรบอง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยายบาลนครพนมและโรงพยาบาลในแขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว

Note : บทความนี้ใช้ข้อมูลจาก ZocialEye by Wisesight เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 1 – 19 ต.ค. 65 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://wisesight.com/zocialeye

รีแอคชั่นโลกโซเชียล

หลังออกมาประกาศแคมเปญได้ไม่กี่อึดใจ กระแสอื้ออึงในโลกโซเชียลก็แตกออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน โดยมีทั้งฝั่งที่สนับสนุนการกระทำของนักแสดงหนุ่มวัย 36 ปี พร้อมบอกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการช่วยเหลือสังคม โดยริเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระแสให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาของสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลมากยิ่งขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน อีกมัลติเวิร์สของโลกโซเชียลกลับคิดเห็นตรงกันข้าม โดยมองว่ากิจกรรมระดมทุนของโตโน่นั้นเสี่ยงอันตรายเกินไป เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน มีพายุฝนตกหนัก ประกอบกับกระแสน้ำในแม่น้ำโขงที่ค่อนข้างเชี่ยวกราก ทำให้แคมเปญนี้อาจลงเอยด้วยการเพิ่มภาระให้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือ โดยชาวโซเชียลส่วนหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่ายังมีช่องทางช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย ที่อันตรายน้อยกว่าและไม่เสี่ยงจะสร้างความเดือดร้อนให้ใคร

นอกเหนือจากนี้ฝากชาวเน็ตฝั่งที่ไม่เห็นด้วยยังออกวิพากษ์วิจารณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น เป็นภาระความรับผิดชอบของภาครัฐ ไม่ใช่หน้าที่หลักของประชาชนที่ต้องช่วยกันหาเงินมาสนับสนุน การกระทำของโตโน่จึงไม่ต่างจากแคมเปญระดมเงินของคนดังหลายคนในอดีต ที่จะยิ่งเบี่ยงเบนปัญหานี้ให้กลายเป็นเรื่องของการบริจาค การทำบุญ จนอาจมองข้ามว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งนี้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่พึงรับผิดชอบไม่ใช่ของประชาชน

ย้อนรอยกระแสเม้ามอยส์ตั้งแต่ต้นตุลา

ก่อนภาคกิจว่ายน้ำข้ามโขงของโตโน่จะเริ่มขึ้นในช่วงเย็นวันเสาร์นี้ (22 ต.ค.) Punch Up อยากขอชวนผู้อ่านทุกคน ย้อนกลับไปส่องกันเล็กน้อย ว่าโลกโซเชียลพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรกันบ้าง

จะเห็นได้ว่ากระแสภารกิจข้ามโขงของโตโน่นั้น เป็นที่ถูกพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเดือนที่ผ่านมา จากการสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 – 19 ตุลาคม พบว่ามีการเอ่ยถึงประเด็นนี้ในโลกอินเทอร์เน็ตไปทั้งสิ้นกว่า 55,000 ข้อความ และฮอตฮิตมากที่สุดบน Platform ของ Facebook

1 ตุลาคม 2565 : เป็นวันที่นักแสดงหนุ่มออกมาประกาศแคมเปญ One Man and The River อย่างเป็นทางการในบัญชี Instagram ส่วนตัว พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลนแขวงคำม่วน ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนักในโลกออนไลน์
8 ตุลาคม 2565 : อย่างไรก็ตาม เพียงเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แคมเปญของหนุ่มโตโน่ก็เป็นที่กล่าวถึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีทั้งกระแสสนับสนุนและไม่เห็นด้วย จน #โตโน่ ขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย ก่อนที่นักแสดงหนุ่มจะได้ออกมา Live อัพเดตยอดบริจาค พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเอง ข้อความในโลกโซเชียลที่เอ่ยถึงประเด็นนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 8,633 ข้อความ นับเป็นวันที่มีบทสนทนาถึงประเด็นนี้มากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของเดือนตุลาคม

9 – 17 ตุลาคม 2565 : หลังจากนั้นกระแสพูดคุย ก็ค่อย ๆ เพลาลงไปเยอะพอสมควรระหว่างช่วงกลางเดือนโดยในวันที่ 17 ตุลาคม มีข้อความที่เอ่ยถึงโตโน่เพียง 470 ข้อความเท่านั้นในโลกออนไลน์

19 ตุลาคม 2565 : ถึงกระนั้นยิ่งใกล้วันทำภารกิจ ก็เหมือนจะมีกระแสดราม่าดลบันดาลให้เรื่องนี้กลับมาเป็นที่สนใจในสายตาสาธารณะอีกครั้ง หลังจากหนุ่มโตโน่เข้าไปใช้อุปกรณ์อุโมงค์น้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ก่อนจะกลายเป็นกระแส Talk of the Town อีกครั้ง โดยเริ่มจากกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ทั้งเก่าและปัจจุบัน ที่ออกมาระบุว่าทางคณะแทบไม่เคยเปิดให้นิสิตเข้าไปใช้อุปกรณ์ดังกล่าวขณะกำลังศึกษาเลย แต่กลับเปิดให้บุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าไปใช้บริการได้ฟรี จนบทสนทนาและข้อความเกี่ยวกับแคมเปญของโตโน่ถูกดึงกลับมาพูถึงอีกครั้ง โดยพุ่งสูงถึง 9,700 ในวันที่ 19 ตุลาคม นับว่าสมากที่สุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูล

โดยก่อนจะถึงกำหนดการว่ายน้ำจริงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันเสาร์นี้ Topic หรือประเด็นอะไรจะผุดขึ้นมาให้ได้เสวนากันอีกบ้าง ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

ชาวเน็ตรู้สึกอย่างไรกับแคมเปญนี้?

เรามาดูในแง่ของ Sentiment หรืออารมณ์ที่ประชาชนชาวเน็ตมีต่อแคมเปญนี้กันบ้าง หากไม่นับกลุ่มความรู้สึกกลาง ๆ หรือ Neutral จะเห็นได้ว่า ข้อความแสดงอารมณ์ค่อนไปด้านลบ หรือ Negative มีจำนวนมากกว่าความคิดเห็นเชิงบวก หรือ Positive อย่างชัดเจน โดยข้อความที่ส่ออารมณ์เชิงลบมีทั้งสิ้นราว 9,400 ข้อความ (17%) ขณะที่ข้อความแสดง Energy เชิงบวกมีอยู่ราว 4,700 ข้อความ (9%) เรียกได้ว่ามากกว่าเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว

ข้อมูลตรงนี้อาจทำให้เราพอสันนิษฐานได้ว่า ทัศนคติของชาวเน็ตไทยที่มีต่อภาคกิจว่ายน้ำข้ามโขงของโตโน่ในภาพรวมนั้น ค่อนไปทางกระแสคัดค้านมากกว่าสนับสนุนอย่างชัดเจน

Keyword ยอดฮิตประจำภารกิจนี้

เมื่อมองใกล้เข้าไปในกระแสความคิดเห็นบนโลกโซเชียล เราจะพบว่ามีคำบางคำถูกใช้ซ้ำ ๆ เพื่อบรรยายปรากฏการณ์นี้อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะนอกจากจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกแล้ว คำเหล่านั้นยังสื่อถึงเหตุผลเบื้องหลังความคิดเห็นทั้งฝั่งที่สนับสนุนและต่อต้านภารกิจของหนุ่มโตโน่
Punch Up พยายามขุดลึกลงไปโดยจำแนกข้อความต่าง ๆ ออกตาม Keyword สำคัญที่ปรากฏมาให้เห็นบ่อย ๆ โดยจากการจัดประเภทข้อความตาม Keyword พบว่า คำที่สะท้อนความคิดเห็นเชิงต่อต้าน ค่อนข้างมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ภาระ” “หน้าที่” หรือ “รัฐบาล”

ขณะที่ Keyword เชิงบวกที่พูดถึงเรื่องการทำ “ความดี” หรือ “ทำบุญ” ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แม้จากไม่มากเท่าข้อความต่อต้านก็ตาม

ส่องความคิดเห็นทั้ง 2 กระแส

สำหรับข้อความเชิงบวกต่อแคมเปญนี้ที่มี Engagement ค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่มาจากการนำเสนอตามหน้าสื่อต่าง ๆ ที่ออกมาให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ อาทิ ในวันที่ 8 ตุลาคม สื่อหลายเจ้าก็ได้นำเสนอความคิดเห็นจากฝั่งนักว่ายน้ำภายในพื้นที่ซึ่งออกมาระบุว่า การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงไม่ได้น่ากังวลอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยหากโตโน่ฝึกซ้อมร่างกายมาอย่างดีจนแข็งแรงเพียงพอ ก็จะสามารถบรรลุภารกิจนี้ได้โดยไม่เป็นอันตราย

Engagement : 166,116

ด้านประชาชนบางส่วน ก็มีการโพสต์ให้กำลังใจนักแสดงหนุ่มอยู่ไม่ขาด พร้อมทั้งลงความเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าชื่นชม และควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งข้อความชื่นชอบจากประชาชนโดยทั่วไป มาจากวงสนทนาบน Platform Facebook ซะเป็นส่วนใหญ่

Engagement : 944
Engagement : 64,566

ถึงกระนั้น อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นกระแสต่อต้านแคมเปญว่ายน้ำข้ามโขงของหนุ่มโตโน่กลับเผ็ดร้อนกว่ามาก โดยเฉพาะจากประชาชนทั่วไปซึ่งมีฐานที่มั่นส่วนใหญ่อยู่บน Twitter ต่างจากกระแสเชิงบวก ซึ่งประเด็นหลัก ๆ ที่มีการวิพากษวิจารณ์ก็ยังคงเป็นหัวข้อเรื่องความอันตรายของภารกิจ รวมถึงการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องคอย Stand By ดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

Engagement : 87,124

นอกเหนือจากการเป็นภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์แล้ว อีกประเด็นที่ชาวเน็ตเลือกจะหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลสนับสนุน เบื้องหลังกระแสต่อต้านแคมปญบริจาคของนักแสดงหนุ่ม นั่นคือการเชื่อมโยงให้เห็นมิติของปรากฏการณ์นี้ที่เป็นมากกว่าแค่เรื่องทำบุญ ทำกุศล แต่เป็นการเสริมแรงวาทกรรมให้ผู้คนเห็นพ้องกับการทำความดีเพื่อส่วนรวม จนอาจหลงลืมข้อเท็จจริงที่ว่าความรับผิดชอบในการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอให้โรงพยาบาลนั้น เป็นภาระหน้าที่หลักของรัฐไม่ใช่ประชาชน ดังนั้น ความช่วยเหลือที่น่าจะส่งผลอย่างยั่งยืนมากกว่าการขอรับบริจาคไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น นั่นคือการตั้งคำถามกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

Engagement : 28,350

Engagement : 57,893

ค่านิยมต่อการบริจาคเงินของคนไทยค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม

เป็นที่น่าสนใจเมื่อปรากฏการณ์แคมเปญว่ายน้ำข้ามโขงนี้ กลายเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทย ต่อการเรี่ยไรเงินบริจาคให้องค์กรภายใต้การดูแลของรัฐซึ่งเปลี่ยนไปมากจากอดีต ค่านิยมเรื่องการทำบุญซึ่งผูกโยงกับความดี ศีลธรรม และศาสนา เริ่มถูกแทนที่ด้วยกาารตั้งคำถามเชิงโครงสร้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วแคมเปญลักษณะเดียวกันอย่าง “ก้าวคนละก้าว” อันโด่งดัง ของ ตูน บอดี้แสลม ก็เริ่มถูกตั้งคำถามขึ้นบ้าง ณ ขณะนั้น ถึงเรื่องความสมเหตุสมผลในการเรี่ยไรเงินบริจาค อย่างไรก็ตาม กระแสในภาพรวมของกิจกรรมก็ยังถือว่าเป็นไปในเชิงบวก เทียบกับแคมเปญ One Man and The River ของโตโน่นั้น ที่แม้ว่ากระแสเชิงลบอันมากกว่าอาจมีต้นตอมาจากบริบทเรื่องความปลอดภัยที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงบทบาทหน้าที่ของภาครัฐที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยหากกระแสความคิดของสังคมยังคงเป็นไปในทิศทางนี้ ครั้งต่อไปที่เราเห็นแคมเปญขอรับบริจาคเงินเพื่อโรงพยาบาลรัฐฯ Comment แรกในโลกโซเชียลอาจไม่ใช่สลิปโชว์ยอดบริจาค แต่เป็นประโยคคำถามง่าย ๆ ว่า “ถ้าประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองอยู่ร่ำไป เราจะมีรัฐบาลที่ต้องจ่ายภาษีให้ไว้ทำไมนะ?”

“จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์โดยทีมงาน Punch Up ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE by Wisesight”

อ้างอิง