Skip to content
Article/Event

DATACOMLAB Launch Event : “เงิน รัฐ ท้องถิ่น หนังไทย” ชวนคุยปัญหาวุ่นๆ เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐ

การเปิดเผยข้อมูล ให้เข้าถึง เข้าใจ และใช้งานได้โดยสะดวก เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่สุดในการสร้างความโปร่งใส และนำไปสู่การมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพของประชาชนในระดับต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสังคม แต่ยังขาดผู้ที่มีความเข้าใจ มีทักษะในการวิเคราะห์ จัดการ สื่อสาร หรือหยิบจับข้อมูลเหล่านั้นมาใช้

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา พันช์อัพ เวิลด์ ในฐานะองค์กรที่ทำงานวิเคราะห์ จัดการ สื่อสาร และต่อยอดข้อมูลหลายชุดที่เกี่ยวกับประเด็นสังคม รวมถึงมีประสบการณ์ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะ ได้เล็งเห็นปัญหาเรื่องการขาดทักษะและกำลังคนในการทำงานในส่วนนี้ จึงสร้าง  Data Communication Lab ขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนที่สามารถทำงานด้านนี้

ซึ่งหลังจากที่ได้โครงการอบรมผู้นำทางความคิด (Key Opinion Leader : KOL) Influencer และประชาชนที่มีความสนใจกว่า 50 คน จาก 24 ทีม ในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ที่ผ่านมา มี 2 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับการพัฒนาผลงาน Data Communication จนเสร็จสมบูรณ์ ในรูปแบบ Microsite-Data Scrollytelling โดยการสนับสนุนจากทีมผู้จัด จนเกิดเป็นผลงาน “ท้องถิ่นไทยทำไม(ยัง)ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?” โดยคุณวรกาญจน์ อุ่นหัตถประดิษฐ์ และคุณอภิรัตน์ อภิรมยนารถ และ “หรือจะเป็นหนังคนละม้วน? ชวนแกะรอยงบสร้างหนังไทยโดยรัฐตลอด 10 ปีที่ผ่านมา” โดยคุณภาวิณี คงฤทธิ์ และคุณกรกมล ศรีวัฒน์

 

จึงเกิดเป็นกิจกรรมที่ทั้ง 2 ทีมร่วมนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนไอเดียบนฐานของข้อมูลในหัวข้อ“เงิน รัฐ ท้องถิ่น หนังไทย” ชวนคุยปัญหาวุ่นๆ เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐ

 

คุณธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท พันซ์อัพ เวิล์ด จำกัด เเละโครงการ WeVis
กล่าวเปิดงานว่า โครงการ Data Communication Lab คือความตั้งใจของ Punch Up กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ต้องการให้ข้อมูลเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น หรือทำให้ประเด็นที่ใกล้ตัวในสังคม อย่างเรื่องงบประมาณที่มีความซับซ้อน ให้เข้าถึงคน และทำให้คนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น สำหรับ 2 ทีมผ่านการคัดเลือกและทำงานมาจนถึงวันนี้ คือหมุดหมายหนึ่งที่แสดงว่าการทำงานกับข้อมูลสามารถขับเคลื่อนบทสนทนาในสังคมได้อย่างไร ?

——

Session 1: การนำเสนอผลงาน “ท้องถิ่นไทยทำไม (ยัง) ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?” โดย คุณวรกาญจน์ อุ่นหัตถประดิษฐ์ และ คุณอภิรัตน์ อภิรมยนารถ


 

อธิบายในประเด็นที่ว่า งบประมาณคือเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับการบริหารส่วนท้องถิ่น แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ส่วนท้องถิ่นหารายได้ด้วยตนเองได้ในสัดส่วนที่น้อยเพียง 3% ของรายได้ทั้งหมด และยังคงต้องอาศัยงบประมาณสนับสนุนจากรัฐอยู่มาก ขณะที่ประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นสามารถหารายได้ด้วยตนเองในสัดส่วนที่เกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท้องถิ่นไทยหารายได้เองได้น้อย เกิดจากข้อบัญญัติทางกฎหมายที่ไม่เอื้อและอนุญาตให้ท้องถิ่นสามารถหารายได้อย่างอิสระ

ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนจากภาครัฐไทยแต่ละประเภทที่ยังคงมีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เช่น การกระจายตัวของเงินอุดหนุนสู่องค์กรส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ข้อจำกัดของเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในโครงการที่ทำ ความไม่มีประสิทธิภาพของงบอุดหนุนสำหรับการจัดทำโครงการระยะยาว เงินอุดหนุนภาคสวัสดิการที่ไม่เพียงพอต่อคนในท้องถิ่น เป็นต้น

——

Session 2: การแลกเปลี่ยนไอเดียหลังการนำเสนอผลงาน “ท้องถิ่นไทยทำไม (ยัง) ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?” ผู้นำเสนอผลงาน ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกับ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรมเริ่มต้นจากการให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นผ่าน Application Slido ในคำถามว่า
เรื่องใดบ้างที่อยากให้ดีขึ้นผ่านการบริหารจัดการจากส่วนท้องถิ่น?

 

ต่อจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “สถานการณ์เรื่องงบประมาณท้องถิ่นไทย” ซึ่ง อ. วีระศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารบ้านเมือง ซึ่งการทำงานของส่วนท้องถิ่นจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ขึ้นอยู่กับทรัพยากร 3 ประการ ได้แก่ เงิน คน และกฎหมาย โดยมีปัญหาในทุกส่วน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลไปยังการทำงานของส่วนท้องถิ่น และหากโครงสร้างการทำงานของส่วนท้องถิ่นยังบริหารเช่นนี้ ต่อให้มีอาจารย์ชัชชาติอีกร้อยคนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะโครงสร้างไม่เอื้อต่อการทำงาน และเรื่องงบประมาณท้องถิ่นก็มีปัญหาในเรื่องของสัดส่วนรายได้จากภาครัฐ และรายได้จากท้องถิ่นนั้น ๆ 

ขณะที่ อ. ดวงมณี กล่าวว่า ในปี 2549 ภาครัฐไทยเคยตั้งเป้าหมายให้รายได้จากส่วนท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนไปถึง 39 % ของรายได้ในส่วนท้องถิ่นทั้งหมด แต้สุดท้ายไม่สามารถทำได้ เพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น การถ่ายโอนงานระหว่างภาครัฐและส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นโยบายของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของส่วนท้องถิ่น ความเป็นอิสระทางด้านการเงินการคลังที่ค่อนข้างจำกัดของท้องถิ่นไทย เป็นต้น และสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณส่วนท้องถิ่น สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การจัดสรรงบประมาณท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด จะทลายข้อจำกัดทางกฎหมายอย่างไร และจะแบ่งงานของภาครัฐ และส่วนท้องถิ่นอย่างไร

ตามด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “ปัญหาของงบประมาณท้องถิ่นไทย” ซึ่งอ. ดวงมณี อธิบายว่า หลายท้องถิ่นพยายามหาวิธีคลี่คลาย และทลายข้อจำกัดของตนเอง รวมไปถึงเคยมีแนวคิดทางกฎหมายในการพยายามให้อำนาจกับท้องถิ่นมากขึ้นในเรื่องภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้าง Accountablity ระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับประชาชน แต่ปัญหาอยู่ที่ภาครัฐยังไม่ค่อยเชื่อใจท้องถิ่นมากนัก รวมถึงท้องถิ่นบางแห่งก็ไม่อยากเก็บภาษีเอง ดังนั้นเรื่องที่ควรต้องพิจารณาด้วยคือ รัฐเปิดให้ท้องถิ่นทำอะไรได้มากแค่ไหน ท้องถิ่นต้องพัฒนาตนเองด้วย ไม่ใช่หวังพึ่งรองบประมาณของภาครัฐเท่านั้น และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐต้องตอบโจทย์คนในท้องถิ่นนั้น ๆ 

 

สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “ท้องถิ่นไทยหารายได้อย่างไรดี ?” อ. วีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากการจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้หลักของท้องถิ่น ในหลายประเทศท้องถิ่นสามารถลงทุนทำกิจการบางอย่าง เพื่อหารายได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับกฎหมายไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นไทยมากนัก และสำหรับเรื่องที่ว่า ทำไมท้องถิ่นไปไม่ได้อย่างที่คนอยากเห็น ก็เพราะท้องถิ่นไทยไม่มีแรงจูงใจอยากพัฒนาหรือบริหาร ท้องถิ่นไทยไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง กฎหมายผูกขาดอำนาจการบริหารเอาไว้ที่รัฐบาลกลาง ท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้มาก หรือเมื่อทำก็มักจะถูกเตะถ่วงตลอดเวลา รวมไปถึงงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอ ขณะที่ อ. ดวงมณี กล่าวเสริมว่า วิสัยทัศน์ของภาครัฐไทยในการส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่นไทยก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

สำหรับการแลกเปลี่ยนปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับส่วนท้องถิ่นไทยอาจารย์ ทั้ง 2 ท่านมองเห็นตรงกันว่า คนในท้องถิ่นต้องช่วยกันส่งเสียงเรื่องปัญหาในท้องถิ่นนั้น ๆ และทลายความไม่ไว้วางใจของรัฐต่อการกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่น 

และในการแลกเปลี่ยนประเด็นสุดท้าย “ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นไทย ไปถึงฝั่งฝัน” อ. ดวงมณี กล่าวว่า ภาคประชาชนคือพลังสำคัญที่จะผลักดันท้องถิ่นไทยไปถึงฝั่งฝัน ต้องอาศัยแรงจากประชาชนในการผลักดัน และทลายกรอบข้อจำกัดต่าง ๆ ร่วมด้วย ขณะที่ อ. วีระศักดิ์ มองว่า Active Citizen คือส่วนสำคัญ ถ้าอยากเห็นเมืองในฝัน ประชาชนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ปล่อยให้ภาครัฐมาเลือกให้เรา ต้องร่วมกันออกแบบสิ่งที่อยากได้ รวมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการ

 

——

Session 3: การนำเสนอผลงาน “หรือจะเป็นหนังคนละม้วน? ชวนแกะรอยงบสร้างหนังไทยโดยรัฐตลอด 10 ปีที่ผ่านมา” โดยคุณภาวิณี คงฤทธิ์ และคุณกรกมล ศรีวัฒน์ อธิบายในรายละเอียดที่ว่า จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้เริ่มจาก คำถามที่ว่า “ทำไมภาพยนตร์ไทยจึงสู้ภาพยนตร์ต่างชาติไม่ได้?” โดยปัญหาของหนังไทยเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งคนดู คนทำ และภาครัฐ แต่ถ้าภาครัฐดำเนินการบางอย่าง จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในหลายมิติ ซึ่งหนึ่งประเด็นสำคัญที่น่าสนใจก็คืองบประมาณสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ โดยเมื่อพิจารณา 3 ประเภททุนงบประมาณสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ไทย ก็จะพบว่าแต่ละทุนมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป และแต่ละทุนก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน โดยทุนกระทรวงวัฒนธรรม ดูเป็นทุนที่ใกล้เคียงกับความหวังของคนทำภาพยนตร์มากที่สุด พร้อมทั้งยกตัวอย่างของต่างประเทศที่ภาครัฐสร้างวิธีการสนับสนุนคนทำภาพยนตร์

 

——

Session 4: การแลกเปลี่ยนไอเดียหลังการนำเสนอผลงาน “หรือจะเป็นหนังคนละม้วน? ชวนแกะรอยงบสร้างหนังไทยโดยรัฐตลอด 10 ปีที่ผ่านมา” ผู้นำเสนอผลงาน ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกับคุณนคร โพธ์ไพโรจน์ Vice President of Project Development เนรมิตรหนัง ฟิล์ม และคุณนุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

 

กิจกรรมเริ่มต้นจากความคิดเห็นในประเด็น “เงินมีผลอย่างไรต่อการทำงานสร้างภาพยนตร์” โดยคุณนุชี่ กล่าวว่า ถ้ามาดูงบประมาณการทำภาพยนตร์ บางเรื่องทุนสร้างดูเหมือนมาก แต่คิดค่าบทออกมาก็จะอยู่ในอัตราส่วนที่น้อย เพราะทุนการเขียนบทภาพยนตร์อยู่ที่ประมาณ 3-5% ของทุนสร้างทั้งหมด สมมติว่าทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งประมาณ 10 ล้านบาท ก็จะมีทุนสำหรับการเขียนบทเฉลี่ยเพียงเดือนละ 30,000 บาท ถ้าจ้างคนเขียนบทสองคน ก็เหลือทุนตกคนละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ คนเขียนบทจึงต้องรับงานเขียนบทหลาย เรื่องพร้อมกัน ถ้ามีงบประมาณทั้งหมดต่อเรื่องมากก็จะดี เช่น Parasite มีทุนสร้าง 585 ล้านบาท คิดค่าบท 3-5 % ก็ได้ประมาณ 17 ล้านบาท ก็สามารถเพียงเรื่องเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้น งบประมาณมีผลต่อคุณภาพอยู่แล้ว และงบประมาณสัมพันธ์กับเวลาและคนที่จะมาทำ 

 

ขณะที่คุณนคร กล่าวว่า เมื่องบสร้างภาพยนตร์น้อยลงเรื่อย ๆ คนทำก็ไม่สามารถทำเพียงเรื่องเดียว และให้เวลามากพอกับเรื่องนั้นเพียงเรื่องเดียวได้ เลยนำมาซึ่งการรับทำภาพยนตร์ควบซีรี่ย์ หรือการเร่งปิดกล้อง เพื่อรับงานอื่น ๆ ต่อ กลายเป็นว่าปัญหาอยู่ที่ความต้องการในมาตรฐานสูงขึ้น แต่งบไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย และเมื่อเงินน้อย เวลาน้อย ก็ส่งผลต่อคุณภาพของภาพยนตร์ และการถูกลดงบลงก็ส่งผลต่อค่าตัวราคานักแสดงด้วย โดยนักแสดงหลายคนอยากพัฒนาคุณภาพฝีมือ แต่วงการคอนเท้นท์ไทยก็ไม่สามารถเลี้ยงเขาได้อยู่ดี นำมาซึ่งการไปรับอีเว้นท์เสริม

กลายเป็นว่าปัญหาอยู่ที่ความต้องการในมาตรฐานสูงขึ้น แต่งบไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย และเมื่อเงินน้อย เวลาน้อย ก็ส่งผลต่อคุณภาพของภาพยนตร์ และการถูกลดงบลงก็ส่งผลต่อค่าตัวราคานักแสดงด้วย โดยนักแสดงหลายคนอยากพัฒนาคุณภาพฝีมือ แต่วงการคอนเท้นท์ไทยก็ไม่สามารถเลี้ยงเขาได้อยู่ดี นำมาซึ่งการไปรับอีเว้นท์เสริม

 

ตามด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “เราจะหาทุนสำหรับการสร้างภาพยนตร์อย่างไร” โดยคุณนุชี่ กล่าวว่า ภาพยนตร์ studio ก็แบบหนึ่ง ภาพยนตร์อิสระก็แบบหนึ่ง สำหรับภาพยนตร์อิสระ โดยมากใช้งบจาก ทุนส่วนตัว หรือหาทุนอิสระอื่นๆ แต่ผู้ให้ทุนก็มีความต้องการแตกต่างกันไป หรือหาทุนจากต่างประเทศ หรือหาทุนในประเทศ ทั้งจากภาครัฐ หรือภาคเอกชน ซึ่งการหาการสนับสนุนทุนสร้างในประเทศได้ ก็มีข้อดีอย่าง เช่น ได้ทุนมาแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อเอื้อให้เกิดการกรุยทางแก่ผู้สร้างในการไปหาทุนส่วนอื่น ๆ

 

ขณะที่ คุณนคร กล่าวว่าทุนที่รัฐสนับสนุนสะท้อนว่ารัฐมองภาพยนตร์อย่างไร ซึ่งมองได้ว่าเป็นพันธกิจหนึ่งของรัฐ ซึ่งลักษณะของแต่ละทุนก็ไม่เหมือนกัน อย่างทุนกระทรวงวัฒนธรรม ก็มีทั้งภาพยนตร์ที่ส่งเสริมวัฒนธรรม แต่ก็มีภาพยนตร์ที่วิพากษ์การทำงานของรัฐด้วย แต่พอมาถึงยุคกองทุนสื่อฯ ก็จะไปทางอื่นมากกว่า พร้อมกับคุณนุชี่ที่เสริมว่า ผู้ให้ทุนก็มีความต้องการ และความต้องการของผู้ให้ทุนก็จะตกไปที่ตัวผู้สร้าง และทุนที่มาจากภาครัฐไทย มักมาคู่กับการควบคุม เช่น กองทุนสื่อฯ ต้องสร้างสื่อ “ปลอดภัยและสร้างสรรค์” กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ตอนแรกต้องการสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะหนังอิสระ แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป หรือสนับสนุนได้ไม่มีประสิทธิภาพ

 

สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “อยากให้ภาครัฐไทยสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างไร” คุณนคร กล่าวว่า มีหลายอย่างที่คนในวงการเรียกร้อง เช่น แก้กฎหมายที่มองภาพยนตร์ในเชิงควบคุม หรือควรชำระมุมมองการมองภาพยนตร์ใหม่ หรือการสร้างกลุ่มองค์กรที่มาดูแลผู้ผลิตภาพยนตร์ เพราะหลายเรื่องเป็นปัญหา เช่น  การมองภาพยนตร์เป็นวัสดุ ทำให้หนังที่เป็น streaming ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นวัสดุอะไร หรือการสร้างกลุ่มองค์กรที่มาดูแลผู้ผลิตภาพยนตร์ หรือการมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหนัง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพานิชย์ ทำให้ไม่สามารถหาเจ้าภาพการดูแลที่ชัดเจนได้ พร้อมกับคุณนุชี่ ที่กล่าวเสริมว่า ภาครัฐไทยไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินให้ทุน เพราะภาครัฐมักมี mindset ในการควบคุม โดยอาจจะต้องทำรูปแบบใหม่ ให้มีอิสระในการคัดเลือกภาพยนตร์ที่จะได้รับทุนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับทุนสนับสนุนมีจำนวนมากพอ เช่น 10-20% ของทุนสร้าง และต้องมีความต่อเนื่องในการให้ทุน พร้อมกับให้คนมีความรู้ความสามารถมามีอำนาจในการพิจารณา

และในการแลกเปลี่ยนประเด็น “ความหวังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” คุณนคร มองว่า ยังเห็นความหวังอยู่ บางอย่างยังสามารถรอดได้ ซึ่งต้องมาพร้อมกับปริมาณที่สอดคล้องกับงบประมาณ การยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำตัวให้สอดคล้องกับโลก เพื่อนำไปสู่การปรับตัวได้ ขณะที่คุณนุชี่ กล่าวว่า หากภาครัฐไม่ทำอะไร แค่เอกชนก็ยังพอไปได้ แต่ถ้าภาครัฐสนับสนุนก็จะช่วยได้มาก แต่ถ้าไม่ช่วยสนับสนุน ขอเพียงอย่าขัดขวางก็พอ

 

ในช่วงท้าย ได้มีการให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นผ่าน Application Slido ในประเด็นที่ว่า จากทุน 3 ประเภทที่ถูกกล่าวถึงในการนำเสนอผลงาน “หรือจะเป็นหนังคนละม้วน? ชวนแกะรอยงบสร้างหนังไทยโดยรัฐตลอด 10 ปีที่ผ่านมา” อยากให้ทุนใดยังคงอยู่และได้ไปต่อมากที่สุด รวมถึงกิจกรรม Mini Activity ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานร่วมกันโหวตว่า ถ้าคุณมีอำนาจตัดสินใจให้รัฐไทยสนับสนุนงบหนังไทยได้.. คุณอยากให้สนับสนุนทุนด้านไหน?

——

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากกิจกรรมตลอดสามชั่วโมงที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ร่วมติดตามผลงานของทั้ง 2 ทีมได้ที่เพจ Facebook และ Instagram ของ Punch Up เร็ว ๆ นี้
ใครที่ต้องการชมงานของเราย้อนหลัง สามารถคลิกที่ ลิงค์นี้ เพื่อชมเทปบันทึก Live ของวันจัดงานได้เลย

ทางทีมงานพันช์อัพต้องขอขอบคุณผู้ร่วมจัดงานอย่าง
HAND Social Enterprise
สถานที่จัดงาน Clazy Cafe
และผู้ร่วมสนับสนุนทุน กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย
หรือ THAI CG Funds มา ณ ที่นี้

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio