Skip to content
Article/Infographic

ครบ 1 เดือน “Pride Month” ย้อนดูความภูมิใจต่อความหลากหลายทางเพศผ่านกระแสโซเชียล

Note : บทความนี้ใช้ข้อมูลจาก ZocialEye by Wisesight เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 28 มิ.ย. 65 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://wisesight.com/zocialeye

-1-

ความเท่าเทียมทางเพศไม่ควรจำกัดแค่ในเดือนมิถุนายน

มิถุนาสีรุ้ง เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หรือทุกคนทุกกลุ่มที่เห็นคุณค่าของ ”ตัวตนหรือความรัก”ที่มาเหนือคำว่า “เพศ” โดย Pride Month ถูกจัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก แต่กว่าสังคมโลกจะเดินทางมาถึงวันนี้ มีเบื้องหลังที่น่าเจ็บปวดใจไม่น้อย

จุดเริ่มต้นของ Pride Month คือเหตุการณ์การเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTQ ในยุค 70 ตอนนั้นกลุ่ม LGBT ถูกมองว่ามีความผิดปกติทางจิต การรักเพศเดียวกันนั้นผิดกฎหมาย หลายคนจึงมักรวมกลุ่มเพื่อแสดงความเป็นตัวเองในบาร์ Stonewall Inn แม้จะเสี่ยงถูกจับก็ตาม จนวันที่ 28 มิ.ย.1969 เกิดเหตุจลาจลในบาร์ดังหล่าวขึ้น หลังผู้คนขัดขืนต่อการเลือกปฏิบัติของตำรวจที่เข้ามาตรวจ จนเกิดการใช้ความรุนแรง เหตุการณ์นี้จึงเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้กลุ่ม LGBT เลือกที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และมีการเดินเรียกร้องสิทธิอย่างต่อเนื่อง จนมีการประกาศในเดือนนี้เป็นเดือนแห่งความภูมิใจ แม้ว่าแท้จริงแล้วความภูมิใจนั้นควรเกิดขึ้นทุกวันด้วยซ้ำ

หากย้อนดูการพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศในกระเเสโซเซียล จริงๆ แล้วมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แต่จะมากขึ้นหลายเท่าในช่วงเดือน Pride Month โดยมีการเสิชค้นหาคำว่า Pride มากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับคำว่า LGBTQ และ ความหลากหลายทางเพศ

นอกจากกลุ่มคำที่พิมพ์ โพสต์หรือใช้ค้นหาแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นในโซเชียลอีกบ้าง ไปดูกัน!!!

-2-

ไทม์ไลน์กระแสโซเซียลในเดือนแห่งความภูมิใจ

สำหรับประเทศไทยมีการเฉลิมฉลองและมีการยอมรับถึงความหลากหลายทางเพศกันมากขึ้น โดยปีนี้มีหลายแบรนด์และบุคคลสาธารณะออกมาพูดถึงและสร้างความเข้าใจต่อสังคมมากขึ้น หากมาย้อนไทม์ไลน์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม โดยเราขอยก 5 ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและได้รับ Engagement สูงสุด

31 พ.ค.65 กระแสเกิดขึ้นจากที่แบรนด์สินค้าต่างๆ อาทิ NIVEA NIKE จัดโปรโมทชั่นหรือเปิดตัวสินค้าต้อนรับเดือน Pride Month เอาใจชาวสีรุ้ง

1 มิ.ย.65 เข้าสู่วันแรกของ Pride Month หลายๆ คนออกมาโพสต์ข้อความ Happy Pride Month day และเป็นวันเดียวกับที่ “ชัชชาติ” ผู้ว่ากทม.เข้าทำงานวันแรก พร้อมได้ไปเปิดงาน Pride Month โดยมี 2 ประเด็นที่ท่านได้พูดจนได้ใจของใครหลายคน

“ชีวิตคนไม่ได้มีแค่ 0 กับ 1 แต่มีสเปคตรัมหรือเฉดสีที่ต่างกัน ดังนั้น ถ้าเราสร้างความเข้าใจตั้งแต่ในโรงเรียนให้ยอมรับความแตกต่างตรงนี้ โตขึ้นมาเขาจะยอมรับความแตกต่างหลากหลายในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย”

“เราอย่าเอากรอบไปใส่ แต่งกายอย่างไรไม่เป็นไร ขอให้บริการประชาชนให้ดี ดูแลประชาชน อย่าทุจริตคอรัปชั่น การแต่งกายไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยกับคุณภาพการให้บริการ ถ้าเขาแต่งกายแล้วสบายใจ แต่งแล้วมีความสุข เขาอาจจะบริการประชาชนได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ”

5 มิ.ย.65 นักเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่ม LGBTQ+ และประชาชนที่สนใจร่วมงานบางกอกนฤมิตไพรด์ 2022

15 มิ.ย.65 สภาผ่านร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมผ่านวาระ 1

25 มิ.ย.65 รอบตัดสินเวที Miss International Queen 2022 หรือเวทีประกวดสาวงามทรานส์เจนเดอร์อันดับ 1 ของโลก ที่จัดขึ้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี

สำหรับช่องทางหรือพื้นที่ที่ได้รับความสนใจ มีผู้คนเข้าไปแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นหรือโพสต์มากที่สุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก 37.49% รองลงมาคือทวิตเตอร์ โดยมีการจัดอันดับเปรียบเทียบทั้งหมด 7 ช่องทาง

โดยกระแสการพูดคุยถึงความภาคภูมิใจ เป็นข้อความในเชิงบวกหรือสร้างสรรค์มากที่สุดถึง 54.27% รองลงมาคือกลางๆ 40.72%

-3-

แรงกระเพื่อมที่รันไปเกือบทุกวงการและความแตกต่างของความภาคภูมิใจ

Pride Month ได้ส่งพลังไปถึงหลายคน หลายหน่วยงาน ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน ต่างให้ความสนใจเรื่อง นี้มากขึ้น โดย Top 3 วงการที่พูดถึง Pride month มากที่สุด จากทั้งหมด 61 categories ได้แก่

  • การโรงแรม (Hotel & Hospitality) 10.7%
  • สินค้าและช้อปปิ้ง (Shopping & Retail) 9.1%
  • สื่อและความบันเทิง (Media & Entertainment) 6.3%

****โดยแบ่งเป็นบุคคลสาธารณะ 71.3 % และแบรนด์ 28.7%

จากกระแสที่คึกคักในช่วงต้นเดือน เกิดคำถามตามมาถึงความแตกต่างของความภาคภูมิใจ เพราะในช่วงที่พรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านวาระ1 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี กลับมี Brand account พูดถึงและให้ความสนใจน้อยลงเกินครึ่ง จากวันที่ 1 มิ.ย.65 มี 273 account ลดเหลือ 147 account ในวันที่ 15 มิ.ย.65 ที่พรบ.ผ่าน

ก่อนจะจบเดือน Pride Month ในปีนี้ หลายคนคาดหวังให้ไทยและสังคมโลกได้ภูมิใจ ได้เคารพและยอมรับถึงความเท่าเทียมในการเป็นตัวตนของคนๆ หนึ่ง ที่พวกเขาเลือกหรือต้องการจะเป็นได้ แม้สำหรับบางคนอาจจะมีบางคำถามหรือไม่คุ้นชินกับความเข้าใจบางอย่าง แต่เพราะชีวิตคนเรามีหลายเฉดสี และเเท้จริงเเล้ว “ตัวตน” มีความหมายมากกว่าคำว่า ”เพศ” ที่ควรได้รับการยอมรับและภูมิใจในตัวตน ในทุกวัน!

“จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์โดยทีมงาน Punch Up ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE by Wisesight”

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio