Skip to content
Article/Behind the Scenes

กว่าจะมาเป็นความหลากหลายบนงาน “เพศ / ซีรีส์ / ภาพยนตร์ ฯ”

เพศ / ซีรีส์ / ภาพยนตร์ เมื่อพื้นที่ของเรา…ไม่เท่ากัน” เป็นงานชิ้นที่ 3 ที่ Punch Up ได้มีโอกาสร่วมงานกับ The Visual by ThaiPBS ในการสื่อสารประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับชีวิตคนเมืองผ่านข้อมูล

งานของเราหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมา มุ่งอธิบายและตั้งคำถามกับประเด็นสังคม งานนี้เราเลยอยากลองเติมส่วนผสมของความสนุกๆ และเรื่องแนวคัลเจอร์ๆ ลงไปบ้าง..

 

ทุกการทำงาน.. เริ่มจากคำถาม+ข้อมูล

จริงแล้ว เรื่องของ LGBTQ++ ก็มีหลายมิติ หลากมุมมองให้ทำได้ แต่ในฐานะที่ The Visual และ Thai PBS เองก็เป็นสื่อสาธารณะ เราเลยลองตั้งคำถามว่า แล้วอะไรล่ะ.. คือจุดร่วมของ Data +  Media + LGBTQ++ ในที่สุดก็ออกมาเป็นเรื่องของ “บทบาท LGBTQ++ บนพื้นที่หน้าจอ” ซึ่งจริงๆ ประเด็นนี้ก็มีการพูดถึงอยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติอย่างเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก

เมื่อได้เป้าหมายหลักแล้ว เราเลยพยายามตั้งคำถามกันต่อถึงเรื่องที่เล่าอยากเล่า และชุดข้อมูลที่เราจะใช้ งานชิ้นนี้จึงมีโครงสร้างหลัก 2 ส่วน คือ 1) โลกเบื้องหลัง: สำรวจคนจริงๆ ที่ทำงานในวงการภาพยนตร์/ซีรีส์จริงๆ และ 2)โลกเบื้องหน้า : สำรวจตัวละครในภาพยนตร์/ซีรีส์

โดยคำถามที่เราตั้งไว้สำหรับโลกทั้งสองใบก็คือ
1) เพศสภาพและเพศวิถีของพวกเขาเป็นอย่างไร? มีความหลากหลายไหม?
2) ช่วงเวลา หมวดหมู่ของสื่อ และช่องทางของสื่อ สะท้อนความหลากหลายเหล่านั้นแค่ไหน?
3) ความหลากหลายที่พบนั้น.. หลากหลายจริงไหม? หรือเพียงเป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม?
4) ทิศทาง ทางออก หรือสิ่งที่ควรเป็นนั้นเป็นอย่างไร?

ข้อมูลมาจากไหน?

แม้ตอนเริ่ม.. จะเริ่มกันด้วยความฟินว่าปลายทางจะต้องได้เห็นอะไรสนุกแน่ๆ แต่!! ตอนทำข้อมูลก็มีหัวร้อนน้ำตาไหลอยู่เหมือนกัน เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์/ซีรีส์ที่ใช้ทั้งหมดในงานนี้ เป็นการเก็บรวบรวมและมาจัดการกันเอง

1) โลกเบื้องหลัง:เก็บรวบรวมข้อมูลภาพยนตร์/ซีรีส์ 1,033 เรื่อง ในช่วงปี 2000-2020 โดยใช้เกณฑ์ ดังนี้

  • ภาพยนตร์/ซีรีส์ต่างประเทศ (617 เรื่อง)
    • Mainstream : ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดของแต่ละปี รวม 400 เรื่อง
    • Award-Winning : ภาพยนตร์ที่ชนะรางวัล Oscar, Cannes และ BIFF ในแต่ละปี รวม 36 เรื่อง
    • Disney : ภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้าง/จัดจำหน่ายโดย Walt Disney Studio รวม 39 เรื่อง
    • Netflix : ภาพยนตร์ Original รวม 142 เรื่อง
  • ภาพยนตร์/ซีรีส์ไทย (385 เรื่อง)
    • หนังไทย : ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวม 86 เรื่อง
    • ละครไทย : ละครที่ขึ้นชาร์ตละครเด่นจากช่อง 3,5,7, MCOT HD, ONE31 และ รวม GMM 261 เรื่อง
    • Streaming : ละคร/ซีรีส์บน Line TV ที่มีแฟนติดตามเกินแสนคน รวม 39 เรื่อง

 

โดยการได้มาซึ่งข้อมูลมีวิธีการดังนี้

  • scrape รายชื่อภาพยนตร์/ซีรีส์ที่ใช้ในงาน และรายชื่อคนทำงานเบื้องหลัง จากเว็บไซต์ของแต่ละช่องทางที่มีโครงสร้างของข้อมูลชัดเจน ด้วย webscraper.io  คิดเป็นประมาณ 50% ของข้อมูลที่ใช้
  • อีก 50% ที่ช่องทางไม่มีเว็บไซต์หลักรวบรวมรายชื่อไว้ หรือมีข้อมูลบนเว็บไซต์ แต่ไม่มีโครงสร้างชัดเจนพอจะ scrape ด้วยเครื่องมือได้ ก็ใช้วิธีการเก็บรวมรวมด้วยมือคนเอาจ้า
  • ความท้าทายอยู่ที่การนำมาจัดประเภท การตามหาข้อมูลที่ไม่ครบ การตรวจสอบข้อมูลซ้ำซ้อน รวมไปถึงการระบุเพศสภาพของแต่ละคน (น่าเสียดาย.. ที่เราไม่สามารถระบุเพศวิถีของพวกเขาได้ทุกคน) ซึ่งก็ต้องอาศัยการเสิร์ชหาใน Google ทีละรายการเพื่อหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมายืนยันความถูกต้อง

2)โลกเบื้องหน้า :ลิสต์รายชื่อตัวละครหลัก 8,177 ตัวละคร จากภาพยนตร์/ซีรีส์ 904 เรื่อง ที่ลิสต์ไว้ในโลกเบื้องหลัง (เรื่องที่เหลือไม่สามารถหาข้อมูลได้ จึงไม่สามารถใช้นำเสนอในส่วนนี้) ด้วยการเสิร์ชหาและนั่งอ่านบทวิจารณ์จากสื่อต่างๆ เพื่อวิเคราะห์เพศสภาพและเพศวิถีของแต่ละตัวละครในแต่ละเรื่อง (จอตาเสื่อมกันบ้างแหละ!)

ตัวเลข.. ไม่ได้บอกเราได้ทุกอย่าง

สิ่งที่เราคิดต่อไปคือ แม้จะมีสถิติที่ทำให้เราเห็น insight บางอย่างจากชุดข้อมูลเบื้องหน้า/เบื้องหลังของโลกภาพยนตร์/ซีรีส์แล้ว แต่นั่นก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่เราตั้งไว้แต่ต้นทั้งหมด เราเลยชวนคนในแวดวงอย่าง “แวววรรณ-วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์” สองผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์หญิงมาคุยเพิ่มเติม เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในวงการ รวมถึงทำการวิเคราะห์ลึกลงไปในแต่ละตัวอักษรของ LGBTQ++ พร้อมขอความรู้เพิ่มเติมจาก “ดร. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ” นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ

การ rationalize และ humanize ข้อมูล เป็นสิ่งที่ Punch Up พยายามทำเสมอๆ ผ่านทั้งการเล่าเรื่อง การออกแบบ และการพัฒนาเว็บไซต์ เพราะแม้เราจะเป็นกลุ่มที่เชื่อในการสื่อสารบนพื้นฐานของข้อมูล แต่เราก็เชื่อในบริบทและความเป็นมนุษย์ไม่แพ้กัน

จากตาราง.. สู่ม้วนฟิล์ม

กว่าจะผ่านด่านข้อมูลและการตีความมาได้ ก็แอบน้ำตาตกกันไปเบาๆ แล้ว แต่งานของดีไซเนอร์ในโปรเจกต์นี้ก็หนักไม่แพ้กัน กับการต้องใส่ข้อมูลภาพยนตร์พันกว่าเรื่อง พร้อมทีมงานเบื้องหลังและตัวละครเบื้องหน้าอีกนับหมื่นชีวิต ลงไปในหน้าเว็บไซต์เดียว ไหนจะการถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ของความหลากหลายทางเพศ ไปพร้อมกับกิมมิคของโลกเบื้องหน้าและเบื้องหลังอีก

ใครที่ลองตั้งใจดูงานนี้ จะเห็นกิมมิคของความเป็นวงการภาพยนตร์/ซีรีส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถ้วยรางวัล ตั๋วหนัง ม้วนฟิล์ม ภาพ gif ฯลฯ รวมถึงการใช้สีสันที่หลากหลาย สะท้อนความเป็น LGBTQ++

ในส่วนของ Data Visualization ซึ่งต้องหาทางให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลจำนวนมากนั้น เราเลือกใช้รูปแบบชาร์ตเพียง 2 รูปแบบหลักๆ

  1. Pictorial Chart : ใช้สำหรับการนำเสนอข้อมูลที่สรุปมาให้ดูแล้ว

2. (Stacked) Bar Chart : ใช้สำหรับชุดข้อมูลที่อยากให้เลือกสำรวจเองได้ (Interactive) โดยจะมีหมวด (Filter) ให้เลือกด้วย

แต่ต้องบอกว่าดีไซเนอร์เราก็อดไม่ได้ที่จะหยอดความหวือหวาไว้เป็นกิมมิคตลอดทาง อย่างโปสเตอร์หนังในชาร์ตที่กางออกได้ โปสเตอร์ที่เปลี่ยนเป็นสีรุ้ง หรือชาร์ตส่วนที่ไล่สีกราเดียนท์ ส่วนอื่นๆ ไม่บอกไว้ตรงนี้ ไปลองเล่นดูกันเอง!

จากหน้าจอ สู่หน้า(เว็บ)จริง

หากข้อมูลและดีไซน์คือความท้าทายระหว่างเดินทาง ก่อนถึงปลายทาง ในฝั่ง Web Development ก็ชวนให้ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ทั้งการดึงข้อมูลจาก database มาเพื่อแสดงผลตามเงื่อนไขต่างๆ การเขียนโค้ดเพื่อสร้าง Visualization บนเว็บไซต์จริงๆ (แถมยังเป็น Interactive และใส่สี ใส่โปสเตอร์เพื่อความสวยงามด้วย)รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นกิมมิคตอนดีไซน์ แต่ก็เป็นความท้าทายสำหรับการทำ Responsive Website

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทุกๆ ครั้งเมื่อผ่านแต่ละโปรเจ็กต์ไปแล้ว แต่ละ Squad ของเราจะมีการถอดบทเรียนระหว่างกัน เพื่อให้เข้าใจว่า การจัดการข้อมูลแบบไหนถึงจะทำให้ดีไซเนอร์ทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงงานออกแบบแบบไหนที่จะตอบโจทย์เนื้อหา แต่ยังไม่ทำให้ดิเวลอปเปอร์อยากฆ่าเรา!

ตอนแรกก็บอกกันว่า งานนี้ขอคัลท์ๆ ชิวๆ ? แต่ก็เล่นเอาว้าวุ่นเหมือนกัน ตั้งแต่ทำข้อมูล ดีไซน์ จนถึงพัฒนาออกมาเป็นเว็บ แม้งานชิ้นนี้อาจจะยังมีข้อมูลไม่ครบทุกอย่าง และยังมีอีกหลายความท้าทายที่เราอยากไปให้ถึงอีกมาก แต่ก็เป็นงานชิ้นนึงที่ทีมเราภูมิใจ ??

ชวนดูงาน เพศ / ซีรีส์ / ภาพยนตร์ เมื่อพื้นที่ของเรา…ไม่เท่ากัน ได้ที่ https://thevisual.thaipbs.or.th/gender-on-screen 

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio