เคยไหม.. ไปเที่ยวไปอยู่ต่างประเทศ หรือบางทีแค่ดูหนัง ที่พูดภาษาที่เราไม่เข้าใจ แล้วอยากฟังออกจังว่าเขาพูดว่าอะไร ภาวะ ‘Lost in Translation’ เป็นกำแพงทางภาษาที่มักนำไปสู่ความไม่เข้าใจ เข้าใจผิด หรือกั้นโอกาสที่จะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
แต่จริงๆ แล้ว.. กำแพงนั้นอาจไม่ได้สูงอย่างที่คิด! สตูดิโอ TheGreenEyl ร่วมกับ Google Creative Lab และ Waseda University ได้ลองเอาใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้และพยายามหาจุดร่วมของภาษาที่มีทั้งหมดทั่วโลก แล้วสร้างเป็นนิทรรษการ ‘Found in Translation’ ซึ่งใช้ Visualization และ Audio Visual เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาษาต่างๆ นั้นมีจุดร่วมกันยังไงบ้าง และอะไรที่ทำให้แต่ละภาษามีจุดเด่นที่ยูนีคแตกต่างกันออกไป
นิทรรศการเป็นโพเดียมอันนึงที่ล้อมรอบด้วยจอขนาดใหญ่จำนวนมาก พอคุณเดินเข้าไป ตอบคำถามหนึ่งข้อ คำตอบนั้นจะถูกป้อนเข้า Google Translate จากนั้นหน้าจอในห้องนั้นจะแสดงคำตอบของคุณใน 24 ภาษาด้วยภาพและเสียง พร้อมโยงเส้นและสีที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ภายใต้การออกเสียงและตัวอักษรที่แตกต่างกันเหล่านั้น เรากำลังสื่อสารด้วยถ้อยคำที่มีความหมายเดียวกัน
เส้นและสีนั้นเกิดจากการเรียนรู้โครงสร้างภาษาและความหมายของ Google AI (ถ้าอยากเข้าใจการทำงานเชิงลึกไปอ่านได้ที่ https://ai.googleblog.com/2019/10/exploring-massively-multilingual.html) โดยระยะของเส้นหมายถึงคำที่ใช้ในประโยคนั้นของแต่ละภาษามีความหมายใกล้กันแค่ไหน ส่วนสีแสดงตระกูลของภาษา ดังนั้น เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ถ้าภาพของเส้นและสีที่ปรากฏออกมาของสองภาษาใกล้เคียงกันเท่าไหร่ แปลว่าสองภาษานั้นๆ มีอะไรที่คล้ายคลึงกันมากเท่านั้น
Richard The ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของโปรเจ็กต์นี้บอกว่า “นี่คืองานที่จะทำให้คุณได้เห็นระบบการเขียนและสื่อสารของภาษาทั่วโลก และในขณะเดียวกัน คุณยังรู้สึกเหมือนได้ฟังทุกคนจากทั่วโลกพูดประโยคเดียวกันกับคุณในเวลาเดียวกันด้วย”