เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น เต็มไปด้วยความกังวลในเรื่องความโปร่งใสและความคุ้มค่ามาตั้งแต่กลางปี 2563
เมื่อข้อมูลโครงการที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาของบก้อนนี้ ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ จนจบที่ ครม. พิจารณาอนุมัติ และมีการเปิดเผยอยู่บนเว็บไซต์ ThaiME แล้ว ทีม Punch Up จึงได้ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ HAND Social Enterprise นำข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นเครื่องมือและ Visualization เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนในฐานะผู้เสียภาษี เข้าถึงและเข้าใจข้อมูลในเชิงพื้นที่และเป้าหมาย รวมถึงสามารถติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณก้อนนี้ได้สะดวกมากขึ้น
ข้อมูลมาจากไหน? : Open Data จากภาครัฐ
จุดหนึ่งในการทำงานนี้ที่ต้องบอกว่าทางทีมงานรู้สึกประทับใจและชื่นชมอย่างมาก คือการเปิดเผยข้อมูลจากสภาพัฒน์ ??? ที่มีความตั้งใจในการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมถึงเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบ machine-readable ซึ่งทำให้ทีมงาน รวมถึงภาคเอกชนและประชาชนอื่นๆ สามารถนำมาต่อยอดในการใช้งาน สร้างเครื่องมือ หรือสื่อสารได้สะดวกมากขึ้น
แน่นอนว่าข้อมูลของแต่ละโครงการนั้นมีรายละเอียดมากมาย แต่ด้วยจุดประสงค์หลักของการสร้างเว็บไซต์นี้ คือการแสดงผลสิ่งที่ต้องรู้ ควรรู้ และน่าจะอยากรู้ เพื่อการติดตามว่าเงิน 4 แสนล้านนี้ถูกใช้อย่างไร ไปอยู่ที่ไหน และมีประโยชน์กับใคร ทางทีมงานจึงทำการสัมภาษณ์เบื้องต้นและประเมินเพื่อจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงจัดระเบียบข้อมูล (Prioritize and Clean) เพื่อเลือกแสดงผลเฉพาะส่วนที่สำคัญและจำเป็น รวมถึงมีการสรุปและวิเคราะห์ข้อควรรู้ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เห็นภาพรวมและ Insight ของโครงการทั้งหมดที่อยู่ในงบก้อนนี้
ผู้ใช้.. ได้อะไรจากโปรเจ็กต์นี้?
- ดูสถานะล่าสุดของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ว่ามีโครงการที่ ครม. อนุมัติให้ใช้ไปแล้วกี่โครงการ ใช้เงินไปแล้วเท่าไหร่ (อ้างอิงข้อมูลจากสภาพัฒน์)
- ดูภาพรวมและ Insight ของข้อมูลโครงการทั้งหมดที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วในงบก้อนนี้ ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายบ้าง หรืองบไปลงที่โครงการและจังหวัดไหนบ้าง
- เลือกดูข้อมูลโครงการต่างๆ ผ่านเลนส์ของพื้นที่, เป้าหมาย, หน่วยงาน และงบประมาณได้ รวมถึงแสดงความคิดเห็นผ่านการโหวตเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยในแต่ละโครงการ
- ร้องเรียน/แจ้งเบาะแสการทุจริตไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ศอตช.) ได้ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
- และถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ก็สามารถเริ่มตรงแบบทดสอบเพื่อคัดกรองโครงการที่น่าจะเกี่ยวข้อง หรือเราน่าจะสนใจได้