แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติของคนไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไม่ถูกหยิบยกมาเป็นข่าวมากนัก คือ ภัยร้ายจากสารพิษที่แฝงมากับฝุ่น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ทำลายสุขภาพเราอยู่
Punch Up ร่วมกับ Thairath-Online ตั้งใจหยิบยกประเด็นสำคัญที่ถูกละเลยจากพื้นที่ข่าวนี้ มานำเสนอในแบบ Scrollytelling ที่เข้าใจง่าย ด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับสารพิษใน PM 2.5 มาอธิบายเป็นภาพที่ชัดเจน เสริมด้วยข้อมูลจากงานวิจัยที่กระตุ้นให้ผู้อ่านเห็นถึงผลร้ายต่อสุขภาพ และปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามต่อมาตรการภาครัฐในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา
โจทย์สำคัญอย่างแรก คือเราต้องการให้ผู้อ่านตระหนักถึงผลกระทบของ PM 2.5 ในระยะยาวมากขึ้น เราจึงใช้ข้อมูลจากงานวิจัยของ Berkeley Earth (2019) มานำเสนอเป็น interactive ง่ายๆ ให้ผู้อ่านเลือกจังหวัดของตัวเองเพื่อดูอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงจากการได้รับ PM 2.5 และเปรียบเทียบให้เห็นกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก พร้อมแสดงตัวเลขที่บ่งบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช้เรื่องเล่นๆ เพราะมลพิษทางอากาศคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกเฉลี่ยถึงวันละ 19,126 เลยทีเดียว
ส่วนสำคัญของงานชิ้นนี้ คือประเด็นสารพิษที่มากับฝุ่น เราเลือกใช้กราฟิกที่เข้าใจง่าย พร้อมข้อมูลประกอบชัดเจน เล่าผ่านชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เผชิญกับฝุ่นพิษ ใช้การเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น เปรียบฝุ่น PM 2.5 เป็นยานพาหนะที่บรรทุกสารพิษเข้าสู่ร่างกายเราได้ลึกลงไปถึงขั้วปอด
ปิดท้าย เราชวนผู้อ่านตั้งคำถามกับมาตรการรับมือของรัฐบาลที่ผ่านมาว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน และเปิดโอกาสให้โหวตแสดงความคิดเห็นว่ามาตรการต่างๆ ‘สอบผ่าน’ หรือ ‘สอบตก’ ในสายตาพวกเขา พร้อมให้ข้อมูลประกอบ และชวนคิดต่อว่า ในเมื่อ “คนไทยเองก็มีสิทธิที่จะมีอากาศสะอาดหายใจ” แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อไป
ดูผลงาน ระเบิดเวลา PM 2.5 ลมหายใจที่หายไปกับฝุ่น ได้ที่ https://www.thairath.co.th/spotlight/pm25