Skip to content
Article/Review

เล่า ‘ความจริง’ และ ‘ความยุติธรรม’ ผ่าน Data และ Visualization

เมื่อเดือนกันยายน 2019 ที่ผ่านมา Online News Association (ONA) หนึ่งในสมาคมด้าน Digital Journalism ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้มอบรางวัลให้สื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี ได้จัดงานประกาศรางวัล Online Jourlism Awards (OJAs) 2019 ขึ้น มอบรางวัลแก่ผลงานข่าวออนไลน์ที่โดดเด่น 37 รางวัล จาก 608 โปรเจ็กต์ทั่วโลกที่ส่งเข้าประกวด

ในปีนี้ ผลงานที่คว้ารางวัลไปครองหลายชิ้น ใช้วิธีการทำข่าวแบบ Data Journalism และนำเทคนิค Visual Digital Storytelling ที่ผสมผสานสื่อดิจิทัลหลายรูปแบบมาใช้ได้อย่างน่าตื่นเต้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในห้องข่าวทั่วโลกในขณะนี้ สิ่งที่น่าสนใจ ไม่ใ่ช่แค่เทคนิคหรือรูปแบบที่หวือหวาเรียกเสียงว้าวจากผู้อ่าน แต่กลับเป็นสร้างประเด็นจากข้อมูลและการนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้คุณค่าที่แท้จริงของ ‘งานข่าว’ (Journalism) กลับมาทรงพลังอีกครั้ง

“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้เครื่องมือที่นักข่าวใช้จะพลิกโฉมและพัฒนาไปแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการทำข่าว คือการเป็น ‘Journalism’ ซึ่งหมายถึงการเสนอ ‘ความจริง’ และ ‘ความยุติธรรม’ สู่สังคม” – Rich Jaroslovsky ผู้ก่อตั้ง ONA

Punch Up ขอหยิบ 9 ผลงานรางวัลเจ๋งๆ ที่บอกเล่า ‘ความจริง’ และ ‘ความยุติธรรม’ ด้วย Data และ Visualization ได้อย่างน่าทึ่ง จากเวที OJAs 2019 มาเล่าให้คุณฟัง

 

1. ‘The Force Report’ โดย NJ Advance Media, สหรัฐอเมริกา

? รางวัล Knight Award for Public Service

“ในเมื่อทางการไม่ทำฐานข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาซะที เราก็ต้องทำเอง” งานชิ้นนี้ตั้งคำถามกับสิทธิในการใช้กำลังเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกา ที่ไร้การควบคุม ทำให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ

NJ Advance Media ห้องข่าวเจ้าของผลงานใช้เวลา 16 เดือนรวบรวมข้อมูลกว่า 3 ล้านดาต้าพอยท์ จากเอกสาร 72,677 ฉบับ เกี่ยวกับการใช้กำลังจับกุมโดยตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐนิวเจอร์ซี มาทำเป็นฐานข้อมูลออนไลน์ ให้คุณสามารถเสิร์ชดูทุกเหตุการณ์การใช้กำลังเข้าจับกุมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2012-2016

งานชิ้นนี้ตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติในหลายมิติ ข้อมูลเผยให้เห็นว่า คนผิวสีมีโอกาสโดยใช้กำลังจับกุมมากกว่าคนผิวขาวถึง 3 เท่า และอัตราการใช้กำลังจับกุมของตำนวจนิวเจอร์ซีสูงกว่ารัฐอื่นๆ ถึง 5 เท่า

ภายหลังจากที่งานถูกเผยแพร่ออกไป รัฐบาลนิวเจอร์ซีได้ขอซื้อข้อมูล เพื่อนำไปพัฒนาระบบตรวจสอบการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้กระแสความตื่นตัวที่เกิดขึ้นจากงานยังทำให้ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีถึงกับออกมาให้คำสัญญาว่า จะปฏิรูประบบการทำงานเสียใหม่ให้มีความยุติธรรมมากขึ้นอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมที่ : http://force.nj.com

 

2. Borderline โดย The Washington Post, สหรัฐอเมริกา

? รางวัล Excellence and Innovation in Visual Digital Storytelling ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่

สถานการณ์ผู้อพยพที่ชายแดนสหรัฐอเมริกา-แม็กซิโก ถือเป็นข่าวใหญ่ในปี 2019 แต่หน้าตาของ ‘ชายแดน’ ที่ว่านี้แท้จริงเป็นอย่างไร คงไม่มีใครนึกออก ภาพจำที่เราคุ้นเคยคงเป็นเพียงเส้นที่ลากผ่านสองประเทศบนแผนที่ ที่ไม่อาจบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้

Washington Post จึงนำเสนอภาพพื้นที่ชายแดนนี้เสียใหม่ จากการทำงานร่วมกันของนักแผนที่ นักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ และนักข่าว สร้างเป็นแผนที่ interactive ที่ทำให้ผู้อ่านได้ประสบการณ์เหมือนกำลังบินอยู่เหนือชายแดนจริงๆ

งานชิ้นนี้ทำให้เราได้เห็นชายแดนทั้งที่ ‘มองเห็น’ และ ‘มองไม่เห็น’ ซึ่งเป็นตัวกำหนดขอบเขตประเทศ และยังแสดงองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ เช่น เมืองชายแดน จุดผ่านเข้าประเทศ และภูเขาหรือทะเลทรายต้องห้าม โดยใช้เทคนิคทางภาพที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายที่สุด

ดูเพิ่มเติมที่: https://www.washingtonpost.com/graphics/2018/national/us-mexico-border-flyover

 

3. Poisoned Cities : Deadly Border โดย The Arizona Republic, USA Today Network และ The Desert Sun, สหรัฐอเมริกา

? รางวัล Excellence and Innovation in Visual Digital Storytelling ประเภทห้องข่าวขนาดเล็ก

“คุณมีเวลาเท่าไหร่ที่จะดูงานชิ้นนี้?” คือคำถามแรกที่คุณจะเจอเมื่อเปิดเข้าไปดูงานนี้

งานชิ้นนี้บอกเล่าปัญหามลพิษทางอากาศ บริเวณเมืองชายแดนสหรัฐอเมริกา-แม็กซิโก ซึ่งทำให้ผู้คนล้มป่วยและอายุสั้นลง แต่แทนที่จะรายงานเป็นลำดับอย่างบทความทั่วไป คุณสามารถสำรวจเนื้อหาข่าวได้จากทุกที่บนหน้าจอ ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้ง interactive graphic บทความขนาดสั้น บทความขนาดยาว วิดิโอ 360 องศา และแม้แต่ visual reality

เนื้อหาข่าวที่แต่ละคนพบจะแตกต่างกันตามเวลาที่เลือกในการดูงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้อ่านแล้ว ยังเป็นการตั้งคำถามที่ท้าทายว่าคุณเองให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากแค่ไหนอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมที่: https://www.desertsun.com/poisoned-cities/air

 

4. Electionland โดย Electionland Coalition และ ProPublica, สหรัฐอเมริกา

? รางวัล Excellence in Collaboration and Partnerships

กรรมการ OJAs ยกย่องให้ Electionland เป็นนวัตกรรมการทำงานข่าว ที่เกิดจากความร่วมมือของนักข่าวจำนวนมากทั่วสหรัฐอเมริกา ถือเป็นงานสเกลใหญ่ยักษ์ สุดท้าทาย ที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้

Electionland เจาะประเด็นการเลือกตั้ง midterm ปี 2018 ในสหรัฐอเมริกา รายงานและบันทึกปัญหาอุปสรรค์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเจอในการลงคะแนนเสียง เช่น การรอคิวนาน ความไม่ชัดเจนของสถานที่เลือกตั้ง ปัญหาการยืนยันตัวตน การออกแบบบัตรลงคะแนนที่ไม่ดี อุปสรรคทางภาษา และอีกมากมาย

Propublica รวบรวมเครือข่ายสื่อระดับท้องถิ่นและระดับประเทศกว่า 120 ห้องข่าว เพื่อรายงานข้อมูลเชิงลึกแบบทันทีทันใดในวันเลือกตั้ง นำมาสู่งานข่าวอีกกว่า 230 ชิ้น ที่สะท้อนปัญหาการจัดการการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

ดูเพิ่มเติมที่: https://projects.propublica.org/voting

 

5. 2018 FIFA Would Cup Russia โดย La Nación, อาร์เจนตินา

? รางวัล Sport ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่

“เพราะฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันเชื่อมโยงเรากับคนรุ่นหลัง และคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้”

La Nación สร้างงาน interactive visualization กว่า 23 ชิ้น ภายใต้โปรเจ็กต์นี้ เพื่อนำเสนอข่าวฟุตบอลโลก 2018 ให้ผู้อ่านเข้าถึงและรู้สึกมีส่วนร่วมกับเนื้อหาได้มากขึ้น โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ ‘ก่อนการแข่งขัน’ เช่น แบบจำลองการคัดเลือกนักเตะ แบบจำลองการจับฉลากแบ่งกลุ่ม การทำนายผลการแข่งขัน และ ‘หลังการแข่งขัน’ เช่น ผลการแข่งขันแบบเรียลไทม์ รายงานสถิติลูกได้เสียและผลงานนักเตะแต่ละคน เครื่องมือคำนวณทำนายผลการแข่งขัน และเกมให้ผู้อ่านให้คะแนนนักเตะ

งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า งานข่าวที่ดีต้องอาศัยการลงทุนทั้งเวลาและความคิดสร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ได้คือประสบการณ์ที่ต่างออกไปในการเสพข่าว และการมีส่วนร่วมของผู้อ่านซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดจากจำนวนผู้อ่านและเวลาที่เข้ามาใช้ในการเสพงานต่างๆ ของโปรเจ็กต์นี้

ดูเพิ่มเติมที่:
http://blogs.lanacion.com.ar/projects/data/football-world-cup-russia-2018/

 

6. The Notebooks of Bribes โดย La Nación, อาร์เจนตินา

? รางวัล The Al Neuharth Innovation in Investigative Journalism Award ประเภทห้องข่าวขนาดใหญ่

นี่คืองานข่าวเชิงสืบสวนชิ้นโบว์แดงแห่งปี 2019 ที่เปิดโปงเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชันครั้งใหญ่ของอาร์เจนติน่า และสร้างปรากฏการณ์ แฉจริง จับจริง จนนักการเมืองต้องหนาว

Driver’s Notebooks เปิดโปงการทุจริตครั้งใหญ่นี้ โดยใช้ข้อมูลจากสมุดโน้ต 8 เล่ม ของคนขับรถของ Roberto Barratte นักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านพลังงาน การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน

สมุดโน้ตชุดชุดนี้พร้อมกับหลักฐานอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ถูกส่งมอบให้กับ Diego Cabot นักข่าวของ La Nación ในปี 2018 เปิดเผยให้เห็นข้อมูลการเดินทางและการติดสินบนของนักการเมืองอาร์เจนตินาหลายคน เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จากนั้นนักข่าวได้สร้างฐานข้อมูล excel อย่างเป็นระบบสมุดโน้ต เพื่อนำไปหาหลักฐานยืนยันการทุจริตที่เกิดขึ้นก่อนจะผลิตออกมาเป็นข่าว และนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยใช้เวลาทั้งสิ้นถึง 7 เดือน

ภายหลังผลงานถูกเผยแพร่ออกไป มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 73 คน (รวมทั้งอดีตประธานาธิบดี) ผู้กระทำผิดจำนวน 40 คนถูกตัดสินจำคุก และอีก 40 คนให้การสารภาพผิดและอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังสามารถยึดคืนเงินได้กว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

กรรมการผู้ติดสิน OJAs ยกย่องงานข่าวชิ้นนี้ ให้เป็นตัวอย่างการทำงานข่าวที่รับผิดชอบต่อสังคม และทำให้สังคมเชื่อมั่นใน ‘งานข่าว’ (Journalism) อีกครั้ง ซึ่งนอกจากรางวัล OJAs แล้ว งานชิ้นนี้ยังคว้ารางวัล Data Journalism Award 2019 โดย Global Editors Network (GEN) มาแล้วอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมที่: http://blogs.lanacion.com.ar/projects/data/the-drivers-corruption-notebooks-argentine-massive-bribery-scandal

 

7.‘Since Parkland’ โดย The Trace และ The Miami Herald, สหรัฐอเมริกา

? รางวัล 2019 Pro-Am Student Award

เหตุการณ์การกราดยิงในโรงเรียนมัธยม เมืองพาร์คแลนด์ (Parkland) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018 นับเป็นเหตุความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สร้างความตื่นตัวเรื่องความรุนแรงจากการใช้ปืนทั่วสหรัฐอเมริกา

Since Parkland รวบรวมเรื่องราวของเด็กและเยาวชน 1,200 ชีวิต ที่ต้องจบชีวิตลงเพราะปืนตลอดระยะเวลา 1 ปี หลังเหตุการณ์พาร์คแลนด์ เพื่อบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ว่า ปัญหาความรุนแรงจากปืนยังคงดำเนินต่อไป และความตายของเด็กๆ เหล่า มีความหมายไม่น้อยไปกว่าชีวิตที่สูญเสียในเหตุการณ์พาร์คแลนด์ที่เป็นข่าวทั่วประเทศ

ข้อมูลสำคัญของงานชิ้นนี้ไม่ใช้ตัวเลขสถิติ แต่คือเรื่องเล่าของแต่ละชีวิตที่จากไป ซึ่งถูกร้อยเรียงจัดกลุ่มให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นเคยเป็นใครมาก่อน เช่น เด็กทารก พี่น้อง นักดนตรี นักกีฬา เกมเมอร์ นักเต้น หรือ ผู้สร้างเสียงหัวเราะ

กว่าจะออกมาเป็นงานชิ้นนี้ได้ ห้องข่าว The Trace และ The Miami Herald ต้องอาศัยนักข่าวเยาวชนกว่า 214 คนทั่วสหรัฐอเมริกา ช่วยรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มีการทำเทรนนิ่งสอนการทำข่าวอย่างเข้มข้นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างมาตรฐานในการรายงาน งานชิ้นนี้จึงสามารถสะท้อนปัญหาผ่านสายตาของเยาวชนซึ่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการใช้ปืนได้เป็นอย่างดี

ดูเพิ่มเติมที่ https://sinceparkland.org

 

8. Breathtaking โดย Undark ,สหรัฐอเมริกา

? รางวัล The Al Neuharth Innovation in Investigative Journalism Award ประเภทห้องข่าวขนาดเล็ก

“เราตั้งใจนำเสนอเรื่องที่มองไม่เห็น ให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป”

PM 2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ห้องข่าว Undark เจ้าของผลงานชิ้นนี้ จัดตั้งทีมนักข่าวที่มีสมาชิกจากทั่วโลก เดินทางไปยัง 7 ประเทศ ใน 5 ทวีป รายงานให้เห็นสภาพที่เกิดขึ้นจริงของชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนที่ต้องเผชิญวิกฤติ PM 2.5 และนำไปสู่การเปิดโปงปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองเบื้องหลังการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นพิษ

จุดเด่นของงานชิ้นนี้ คือการใช้ภาพจากสื่อที่หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความเลวร้ายของฝุ่นพิษ ทั้งภาพถ่ายจากช่างภาพเจ้าของรางวัล Pulitzer ที่ทรงแสนทรงพลัง วิดิโอ 360 องศา เอนิเมชั่น ประกอบข้อมูลที่เข้มข้น ออกมาเป็นชิ้นงานที่ทำให้คุณอึ้งจนแทบหยุดหายใจ

ดูเพิ่มเติมที่ https://undark.org/breathtaking

 

9. Lesson Lost โดย Milwaukee Journal Sentinel, สหรัฐอเมริกา

? รางวัล The University of Florida Award for Investigative Data Journalism ประเภทห้องข่าวขนาดเล็ก/กลาง

Erin Richards นักข่าวการศึกษาของห้องข่าว Milwaukee Journal Sentinel เริ่มต้นการทำงานชิ้นนี้ด้วยการตั้งคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของเด็กจำนวนมากไม่พัฒนากันแน่

เธอหาคำตอบด้วยการนำข้อมูลผลการเรียนเด็กแต่ละคน ในรัฐวิสคอนซิน ย้อนหลัง 13 ปี จำนวนกว่า 12 ล้านข้อมูล (student-level data) มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลคะแนนสอบวัดผลระดับรัฐ และรายงานคะแนนจากแต่ละโรงเรียน จนพบว่าการออกจากโรงเรียนกลางคันหรือการย้ายโรงเรียน คือสาเหตุสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาผลการเรียนของเด็กจำนวนมาก

ในแต่ละปีมีเด็กกว่า 22,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของนักเรียน ในรัฐวิสคอนซิน ต้องย้ายโรงเรียน โดยในบางโรงเรียนอัตราการเข้าออกของเด็กสูงถึง 40%

ดูเพิ่มเติมที่:
https://projects.jsonline.com/news/2018/10/5/high-student-turnover-in-milwaukee-stalls-achievement-despite-reforms.html

<Author>
Data-storytelling Consulting and Studio